กพท.หนุนรัฐบาลประกาศห้าม ‘ต่างชาติ’ บินเข้าประเทศ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมส่งสัญญาณขยายเวลาห้าม ‘เครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร’ เข้าไทย หากรัฐบาลต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ทางกพท.ก็จะขยายเวลาห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารบินเข้ามาประเทศไทยออกไปเช่นกัน
“คนที่ประกาศให้คนต่างชาติเข้ามาไทยได้หรือไม่ คือ รัฐบาลและศบค. ถ้าศบค.มีมติอะไรออกมา จะมีการแจ้งให้กพท.ไปดำเนินการต่อ ซึ่งตอนนี้ กพท.มีคำสั่งประกาศคนต่างชาติเข้าไทยไปถึง 30 เม.ย. แต่ถ้ามีการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผมก็จะออกประกาศห้ามเครื่องบินขนคนต่างชาติเข้ามา เหลือแต่คนไทยกลับบ้านอย่างเดียว” นายจุฬากล่าว
นายจุฬา ระบุว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาประเทศไทย และหากโควิด-19 ยังไม่หายไปหรือยังคิดค้นวัคซีนไม่ได้ เชื่อว่าคงไม่มีประเทศไหนเปิดประเทศเช่นกัน โดยสิ่งที่แต่ละประเทศทำได้ขณะนี้ คือ ควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป และรักษาตามโรคอาการเท่านั้น ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับโควิดในสถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีน คือ การป้องกันไม่ให้คนที่แข็งแรงป่วย เพราะการระบาดของเชื้อโควิด
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับทรัพยากรด้านสาธารณสุขของไทยในการดูแลและรักษาผู้ป่วยโควิดแล้ว จะพบว่าประเทศไทยมีทรัพยากรไม่เพียงพอในการดูแลคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้
“ถ้าถามผมตอนนี้ ผมยังไม่ให้ใครเข้ามา จนกว่าจะชัวร์ว่าคนป่วยจะลดลง และต้องดูด้วยว่าคนที่มา มาจากประเทศที่ไม่มีโควิด อย่างคนที่มาจากสหรัฐวันนี้ ต้องบอกว่าเสี่ยงมาก และไม่มีผู้นำประเทศคนไหนยอมให้เข้ามาแน่ โดยปัจจุบันทุกประเทศดูคนของตัวเองก่อน ส่วนต่างประเทศเอาไว้ทีหลัง เพราะปัญหาของตัวเองก็แย่พอแล้ว ซึ่งทุกประเทศพยายามไม่ให้มีคนป่วยเพิ่ม และสงวนทรัพยากรไว้รักษาคนที่ยังไม่ป่วยโควิด” นายจุฬากล่าว
นายจุฬา กล่าวด้วยว่า หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว และไทยเปิดให้คนต่างชาติบินเข้าประเทศไทยได้ วิธีการปฏิบัติและมาตรการบังคับที่นำมาใช้กับคนของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน เพราะความรุนแรงของการระบาดไม่เหมือนกัน เช่น กรณีที่บางประเทศผู้ติดเชื้อเกิน 5,000 คน จะต้องมีมาตรการบังคับเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
“เราต้องมั่นใจว่าคนที่จะมาจากต่างประเทศ คือ คนที่ไม่มีปัญหา แต่เมื่อเราไม่รู้ว่าใครบ้างที่ไม่มีปัญหา ใครบ้างที่ไม่ป่วย เราจึงจะนำวิธีการที่เคยใช้ช่วงแรกมาทำต่อ คือ คนที่จะเข้ามาได้ต้องเจาะเลือดแล้วไม่มีโควิด มีใบรับรองแพทย์ยืนยัน ซึ่งวิธีการนี้จะลดความเสี่ยงไม่ให้คนติดโควิดเข้ามาได้เกิน 50% รวมทั้งคนที่เข้ามาต้องทำประกันภัย 1 แสนเหรียญสหรัฐ เพราะแม้ว่าเขาจะเจาะเลือดผ่าน แต่ถ้าเขามาแล้วเป็นอะไรที่บ้านเรา เขาจะได้มีเงินจ่าย”นายจุฬากล่าว
นอกจากนี้ การติดตั้งเครื่องสแกนอุณหภูมิวัดไข้ตามจุดตรวจต่างๆของสนามบิน จะกลายเป็นมาตรฐานปกติของสนามบินทั่วไปของไทย แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม
อ่านประกอบ :
ชง ‘บิ๊กตู่’ ห้ามต่างชาติเข้าไทย หลังพบ 42 รายติดโควิด
ออกกติกาคุมโควิด เที่ยวบินในปท.ต้องเว้นที่นั่ง-สวมแมสก์ตลอดเวลา รับสภาพตั๋วแพงขึ้น
กทพ.ขยายเวลาห้ามอากาศยานเข้าไทยถึง 30 เมษาฯ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage