กพท.แจงกติกาคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิดบนเครื่องบิน ให้สายการบินในประเทศขายตั๋วแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ส่วนผู้โดยสารต้องใส่หน้ากากฯตลอดเวลา ห้ามกินอาหาร-กินน้ำบนที่นั่ง รับสภาพตั๋วโดยสารแพงขึ้นแน่ เหตุมีที่นั่งน้อยลง แต่เชื่อราคาไม่แพงเวอร์ เพราะจะทำให้ไม่มีคนมาใช้บริการ
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า วันนี้ กพท.ได้เชิญตัวแทนสายการบิน 20 สายการบิน เข้ารับฟังการชี้แจงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของเที่ยวบินภายในประเทศ หลังสายการบินบางแห่ง เช่น ไทยแอร์เอเชีย และไลออนแอร์ มีแนวโน้มจะกลับมาให้บริการบินภายในประเทศอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน
สำหรับแนวทางปฏิบัติของเที่ยวบินภายในประเทศดังกล่าว จะมีการเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ได้แก่ 1.ในขั้นตอนการขายตั๋วโดยสารของเที่ยวบินโดยสารภายในประเทศ จะกำหนดให้สายการบินต้องขายตั๋วแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) โดยมาตรการดังกล่าวจะทำให้จำนวนที่นั่งของเที่ยวบินแต่ละเที่ยวหายไปประมาณ 30%
อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ขายตั๋วแบบที่นั่งเว้นที่นั่งดังกล่าว จะไม่บังคับใช้กับเครื่องบินที่มีที่นั่งไม่เกิน 70 ที่นั่ง เนื่องจากสายการบินจะแบกรับต้นทุนไม่ไหว แต่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ให้ใช้ที่นั่งได้ 70% เช่น ถ้าเป็นเที่ยวบินขนาด 70 ที่นั่ง จะให้นั่งได้ 49 ที่นั่ง เป็นต้น และต้องจัดที่นั่งของผู้โดยสารให้กระจายกันออกไป
2.กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ social distancing ตั้งแต่ผู้โดยสารเข้ามายังสนามบิน ซึ่งจะมีการวัดอุณหภูมิของผู้โดยสารโดยสาร โดยอุณหภูมิต้องไม่เกิน 37.3 องศาเซลเซียส ส่วนการเช็คอิน การเข้าคิวรับบอร์ดดิ้งพาส (Boarding Pass) การตรวจค้นสัมภาระ และการเดินขึ้นเครื่องทางสะพานเทียบเครื่องบิน จะต้องเว้นระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร ส่วนกรณีขึ้นรถบัสไปขึ้นเครื่องบิน จะต้องลดจำนวนผู้โดยสารบนรถบัสลงเช่นกัน
3.ผู้โดยสารต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตั้งแต่เข้ามายังสนามบิน และหากไม่มีหน้ากากฯจะไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง อีกทั้งเมื่ออยู่บนเครื่องบินผู้โดยสารจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง หากไม่ใส่จะมีมาตรการทางกฎหมายบังคับให้ใส่ ขณะเดียวกัน ต่อไปนี้จะไม่มีการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินแล้ว รวมทั้งไม่อนุญาตให้นำอาหารและน้ำดื่มขึ้นเครื่องด้วย เพราะการบริโภคอาหารและน้ำดื่มจะต้องมีการเปิดหน้ากากฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีผู้โดยสารมีความจำเป็นต้องดื่มน้ำ เช่น การกินยา สายการบินจะต้องจัดพื้นที่ให้บริการดังกล่าวไว้ที่บริเวณท้ายเครื่อง และเที่ยวบินที่มีระยะเวลาการบินเกิน 90 นาที สายการบินจะต้องจัดแถวที่นั่ง 2 แถวสุดท้าย เพื่อเป็นที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่มีอาการป่วยระหว่างการเดินทาง
“มาตรการเหล่านี้จะทำให้ผู้โดยสารมั่นใจว่า การเดินทางทางอากาศจะลดโอกาสการติดเชื้อไปสู่คนอื่น และเป็นการป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อด้วย” นายจุฬากล่าว
นายจุฬา กล่าวว่า ในการชี้แจงดังกล่าว กพท.ไม่ได้หารือกับสายการบินเรื่องการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร โดยปัจจุบัน กพท.กำหนดให้สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) คิดค่าโดยสารได้ไม่เกิน 9.4 บาทต่อกิโลเมตร แต่เนื่องจากขณะนี้สายการบินส่วนใหญ่คิดตั๋ว 4-5 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้น เมื่อมีที่นั่งน้อยลง สายการบินจะมีการปรับราคาขึ้นจากเดิม ส่วนจะปรับเท่าไหร่ต้องแล้วแต่สายการบิน แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด
“ที่ผ่านมาบางเส้นทางคิดค่าโดยสารไม่ถึง 1,000 บาท เพราะมีการทำโปรโมชั่น แต่หลังจากนี้ค่าโดยสารอาจเพิ่มเป็น 2,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 100% ก็เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่าสายการบินก็ต้องดูว่าผู้โดยสารจะรับไหวหรือไม่ เช่น ถ้าบิน 1,000 กิโลเมตร แล้วคิดว่าโดยสารเต็มเพดาน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ค่าตั๋วจะขึ้นไป 9,000 กว่าบาท ราคานี้คงไม่มีคนขึ้นแน่ ผมจึงเชื่อว่าราคาจะไม่ขึ้นไปถึงขนาดนั้น แต่ราคาตั๋วเพิ่มขึ้นแน่ เพราะที่นั่งน้อยลง” นายจุฬากล่าว
นอกจากนี้ กพท.จะมีมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือสายการบิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขายตั๋วที่นั่งเว้นที่นั่ง โดยยอมให้สายการบินใช้ที่นั่งที่ว่างในการขนสินค้าบางอย่างได้ เช่น สินค้าเกษตร เป็นต้น โดยจะมีการหารือรายละเอียดอีกครั้งว่าสินค้าประเภทใดที่จะนำมาวางบนที่นั่งโดยสารได้ และต้องมีมาตรการดูแลอย่างไรไม่ให้กระทบความปลอดภัย
นายจุฬา กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ กพท.จะออกประกาศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการโดยสารบนเที่ยวบินในประเทศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนสายการบินจะเปิดให้บริการเส้นทางบินใดบ้าง ให้ขึ้นอยู่กับการพิจาณาของแต่ละสายการบิน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสนามบินปลายทางด้วยว่ายังปิดอยู่หรือไม่ เพราะขณะนี้สนามบินหลายแห่ง เช่น สนามบินภูเก็ต ยังคงปิดตัว เนื่องจากผู้ว่าฯมีคำสั่งปิดเมือง
นายจุฬา ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินแห่งใดมีความประสงค์จะเปิดให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศเลย เพราะรัฐบาลยังห้ามคนต่างประเทศเข้าไทยอยู่ และต้องติดตามดูต่อไปว่ารัฐบาลจะต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.นี้ หรือไม่ ทั้งนี้ หากรัฐบาลต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กพท.จะออกประกาศฉบับใหม่เพื่อขยายเวลาการห้ามอากาศยานต่างประเทศเข้าประเทศไทยออกไป
“ปัจจุบันเชื้อยังอยู่ในต่างประเทศค่อนข้างเยอะ พูดๆง่ายคือ มีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่เราทรงตัวหรือลดลง ดังนั้น การตัดสินใจนำคนต่างประเทศเข้ามาโดยเร็ว อาจจะค่อนข้างลำบากในตอนนี้” นายจุฬากล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage