ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไม่ใช้งบบัตรทอง 2,400 ล้านบาท จ่ายเงินเดือนให้บุคลากรการแพทย์ 4 หมื่นตำแหน่ง เตรียมหารือสำนักงบประมาณ หาแหล่งเงินใหม่
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ชี้แจงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปรับโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับโอนงบประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินในการแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า วงเงินที่กำลังพูดถึงกัน มีความเกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งอนุมัติให้บุคลาการทางการแพทย์กว่า 4 หมื่นคน บรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว และจากเดิมได้รับเงินเดือนผ่านกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เมื่อมีการบรรจุเป็นข้าราชการ วิธีในทางปฏิบัติต้องโอนเงินกลับเข้างบกลาง เพื่อจัดสรรเป็นงบเงินเดือนข้าราชการต่อไป
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า บุคลาการแพทย์กว่า 4 หมื่นตำแหน่ง เป็น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานข้าราชการ และลูกจ้างที่ทำหน้าที่อยู่แล้วในปัจจุบัน ที่มีการตั้งงบจ่ายเงินเดือนอยู่แล้วในกองทุน สปสช. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดหางบประมาณส่วนอื่นโอนคืนให้กับสำนักงบประมาณแทน
“ในการบรรจุข้าราชครั้งนี้ เรามองว่าวงเงินของบัตรทองที่ 2,400 ล้านบาทอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตัดมาเพื่อจ่ายเงินเดือน เบื้องต้นได้พูดคุยกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแล้วว่า อาจจะใช้เงินจากส่วนอื่นแทน เช่น งบสวัสดิการข้าราชการจากกรมบัญชีกลาง เงินจากประกันสังคม หรือเงินบำรุงโรงพยาบาลที่ได้รับบริจาคจากประชาชน ซึ่งตามกฎหมาย อนุญาตให้นำมาใช้ในส่วนนี้ได้” นพ.สุขุม กล่าว
นพ.สุขุม กล่าวด้วยว่า สำหรับงบบัตรทองที่ได้รับการจัดสรรในปีนี้กว่า 1.1 แสนล้านบาท มีวงเนสำหรับการส่งเสริมป้องกันโรคจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมตรีได้อนุมัติงบประมาณมาให้อีก 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคิดว่าน่าจะเพียงพอกับการรับมือสถานการณ์ในปัจจุบัน
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ เช่นเดียวกับสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน จึงได้บัญชาให้สำนักงบประมาณและกระทรวงสาธารณสุขหารือในรายละเอียด เบื้องต้นทราบว่า บัตรทองจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จะไม่ใช้เงิน 2,400 ล้านบาทจาก สปสช. แล้ว และเป็นเรื่องที่ทั้งสองหน่วยงานจะต้องหารือกันว่าจะใช้เงินจากส่วนไหนในการจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการที่จะบรรจุใหม่อีก 4 หมื่นคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 ได้รับการจัดสรร 190,601.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ได้รับการจัดสรรในปีก่อน 4.97% แบ่งเป็น 8 รายการ ดังนี้
1.บริการเหมาจ่ายราย วงเงินรวม 173,750.40 ล้านบาท ในส่วนนี้มีเงินเดือนบุคลากรหน่วยบริการภาครัฐ 49,832.58 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินในการให้บริการประชาชน 123,917.82 ล้านบาท ครอบคลุมประชากร 48.26 ล้านคน คิดเป็นค่าบริการ 3,600 บาทต่อคน
2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมการควบคุมป้องกันการติดเชื้อ จำนวน 3,596.84 ล้านบาท
3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405.41 ล้านบาท
4.บริการป้องกันความคุมแรงของโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน จำนวน 1,037.57 ล้านบาท
5.บริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนไต้ จำนวน 1,490.29 ล้านบาท
6.บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,025.56 บาท
7.บริการเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268.64 ล้านบาท
8.ชดเชยวัคซีนป้องกันหัด คางทูมและหัดเยอรมัน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดในภาคใต้ปี 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage