รมว.คลัง เผยคณะกรรมการกลั่นกรอง พ.ร.ก.กู้เงิน จะพิจารณามาตรการเยียวยาเกษตรกรในสัปดาห์หน้านี้ ชี้มีความเป็นไปได้ที่จ่ายให้รายละ 15,000 บาท คาด ครม.อนุมัติโครงการในสัปดาห์หน้า
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า การช่วยเหลือเกษตรกร จะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ที่มีวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์นี้รายละเอียดมาตรการจะถูกส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินจ่ายเงินกู้พิจารณา และเป็นไปได้ว่าประชุมคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในสัปดาห์หน้า
นายอุตตม กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ จะใช้ตัวเลขผู้ลงทะเบียนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง ก็จะเป็นงบประมาณอีกชุดหนึ่งที่จะต้องให้การช่วยเหลือต่อไปในอนาคตอีกด้วย
“มาตรการที่จะออกมาตอนนี้ เราดูแลเกษตรกรในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนการดูแลภาคการเกษตรในเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่จะพิจารณากันต่อไป ส่วนจะเป็นการจ่ายเงินให้รายละ 15,000 บาทหรือไม่ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ อยู่ในกรอบที่มีเหตุมีผล แต่ต้องรอรายละเอียดจากคณะกรรมการกลั่นกรองเขาพิจารณาก่อน” นายอุตตม กล่าว
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท ที่ทำโดยธนาคารออมสินและธนาคารการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ วงเงินแห่งละ 2 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน มีผู้มาลงทะเบียนจนเต็มวงเงินแล้ว และจะเริ่มโอนเงินก้อนแรกได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน น่าจะทำสัญญาและโอนเงินให้กับผู้ลงทะเบียนได้ครบทั้งหมด
ขณะที่นายแพตริเซีย มงตคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงการคลัง ได้ปรับแผนก่อหนี้สาธารณะใหม่ หลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้เงินก้อนแรก 7 หมื่นล้านบาทในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนรายละ 5,000 บาท ซึ่ง สบน. จะออกจดหมายชี้ชวนให้สถาบันการเงินเข้าร่วมประมูลให้กู้เงิน และคาดว่าจะมีเงินเตรียมพร้อมภายในวันที่ 5 พ.ค.นี้
สำหรับวงเงิน 7 หมื่นล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน จะเป็นการกู้เงินจากธนาคารในประเทศ ซึ่งจะเปิดประมูลในวันที่ 29 เม.ย. เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารของตลาดกรุงเทพฯ หรือ BIBOR ปัจจุบันอยู่ที่ 0.97% บวก 5 ทศนิยม ส่วนการกู้เดือนต่อไปต้องพิจารณาจากปลายปัจจัย และมาตรการเยียวยาของภาครัฐ หากสรุปตัวเลขออกมาก็จะสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ
ทั้งนี้ สบน. คาดการณ์ว่า ในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 จะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ประมาณ 6.03 แสนล้านบาท และแผนงานเดิมที่ต้องก่อหนี้อีก 8.94 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.497 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เพดานหนี้สาธารณะปี 2563 อยู่ที่ 51.84% และคาดว่าสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 57.96% บนสมมุติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่ระดับ 3%
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage