คณะที่ปรึกษาภาคเอกชน เตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อโควิด-19 กลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ โดยขอให้ทดลองนำร่องใน 2-3 จังหวัดเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) เผยข้อสรุปในการเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยสรุปมาตรการที่แบ่งตามความเร่งด่วนในการดำเนินการ ดังนี้
1.กลุ่มมาตรการที่ทำได้ทันที เช่น การเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน, การอนุญาตให้ปรับการจ้างงาน จากการจ่ายค่าแรงรายวันเป็นรายชั่วโมง
2.กลุ่มรอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของนายจ้างจาก 4% ให้เหลือ 1% เป็นระยะเวลา 180 วัน, หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่ากรณีใช้งบประมาณเกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และขอขยายสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐออกไปอีก 4 เดือน และอนุญาตธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง กลับมาเปิดให้บริการโดยเริ่มต้นทดลองจังหวัดนำร่อง เป็นต้น
3.กลุ่มมาตรการระยะยาว เช่น การแก้กฎหมายเพื่อรองรับ จัด E-Gov Digital ID, การจัดตั้งกองทุนร่วมทุนเกษตรกร วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นต้น
นายทศพร กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอที่จะต้องนำรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อสั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมเตรียมเสนอแนวทางให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาการเปิดดำเนินการธุรกิจ โดยแบ่งตามความเสี่ยงของสถานประกอบการ และการจัดกลุ่มพื้นที่รายจังหวัด โดยจะเริ่มต้นเปิดธุรกิจบางประเภท ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ และจังหวัดที่มีความเสี่ยงปานกลาง พร้อมเสนอให้ทดลองในจังหวัดนำร่อง 2-3 จังหวัด เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆต่อไป
“เราควรเริ่มทำในจังหวัดนำร่องก่อน ส่วนกิจกรรมในแต่ละจังหวัดจะมีหลายอย่าง ทั้งตลาดนัด ห้องเสริมสวย ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ขณะเดียวกันเราจะมีมาตรการให้ว่าแต่ละคนจะต้องทำอะไรบ้าง ก็อยากจะให้ทำตามนั้น ผมคิดว่าคงไม่เริ่มทำใน กทม. แต่เราอยากได้จังหวัดที่มีความพร้อมทั้งผู้ประกอบการและภาคประชาชน เช่นจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ส่วนจังหวัดที่มีความเสี่ยงปานกลาง เราอยากได้จังหวัดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย และควรมีทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรในพื้นที่ด้วย” นายกลินท์ กล่าว
ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ได้แบ่งข้อเสนอและมาตรการเป็นประเด็นเฉพาะด้าน 5 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้
1.ข้อเสนอมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ 1) ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง 2) มาตรการทางภาษี หักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ได้ 3 เท่า 3) ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟ ออกไปอีก 4 เดือน 4) ขอสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80% และ 5) ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ เป็นต้น
2.ข้อเสนอมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ได้แก่ 1) มาตรการในการปรับพฤติกรรมของประชาชน โดยกำหนดแนวทางในการปฏิบัติของประชาชนและสถานที่ให้บริการ 2) แนวทางพิจารณาการเปิดดำเนินการธุรกิจตามความเสี่ยงของสถานประกอบการ และพื้นที่ที่มีความ 3) จัดทำช่องทางรายงานและติดตามการทำงานของสถานประกอบการรายจังหวัด
3.ข้อเสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล ได้แก่ 1) ควบคุม ป้องกัน และรักษาเช่น การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ 2) ความต่อเนื่องทางธุรกิจ เช่น แก้กฎหมายเพื่อรองรับการจัด E-Gov Digital ID 3) มาตรการสนับสนุนผู้จบการศึกษาใหม่, คนว่างงาน และรักษาการจ้างงานในปัจจุบัน 4) เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และการช่วยเหลือดิจิทัล สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี
4.ข้อเสนอมาตรการเพื่อภาคเกษตรประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1) การเยียวยาให้กับเกษตรกร 2) พักหนี้ 1 ปีให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 3) ปรับโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้จากการเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร 4) จัดให้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ ส่วนมาตรการระยาว ซึ่งจะต้องหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง ได้แก่ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านกองทุนร่วมทุนเกษตรกร 50,000 ล้านบาท เป็นต้น
5.ข้อเสนอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ 1) สถาบันการเงินจะกระจายวงเงินให้ลูกหนี้ทุกระดับ และให้วงเงินไม่จำกัดเฉพาะลูกหนี้ชั้นดีของสถาบันการเงินเท่านั้น 2) ผ่อนปรนเงื่อนไขและแนวทางการพิจารณาวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเน้นย้ำให้กระจายถึงผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage