‘บัณฑูร’ ชี้มาตรการรัฐอัดฉีด 1.9 ล้านล้าน เยียวยาโควิด-19 ยัง ‘ไม่พอ’ เหตุพายุหนักยังไม่มา ระบุแบงก์พาณิชย์แกร่งรับมือเศรษฐกิจถดถอย แนะรูปแบบการทำมาหากินยุคหลังโควิด ต้องมีองค์ความรู้ใหม่
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กรอบวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ก็หวังว่ามาตรการที่ออกมาจะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่วิกฤตเหมือนปี 2540 และส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมานั้นจะครบถ้วนเพียงพอหรือไม่
“ก็หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่ใส่เอาไว้ คงจะกันไม่ให้เราไปถึงจุดนั้น เพราะผมจำได้ว่าเมื่อปี 2540 ทุกคนนึกไม่ถึง นึกไม่ถึงว่าพายุมาทีเดียวล่มเลย ครั้งนี้ดูเสมือนว่าใส่มาตรการเอาไว้ขั้นหนึ่ง แต่ถามว่าใส่ไว้ครบไหม ก็ตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะพายุยังไม่มา ถ้าพายุมาหนักถึงขั้นหนึ่ง มาตรการต่างๆที่เตรียมไว้ก็อาจจะไม่พอ แต่ก็ยังโชคดี เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินของเราได้ตุนเสบียงสำรองไว้พอสมควร”นายบัณฑูรกล่าว
นายบัณฑูร ย้ำว่า แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและผู้ที่ตกงานนั้น นอกจากการเยียวของรัฐบาลแล้ว ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนยังสามารถพึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ในระดับหนึ่ง
“ครั้งนี้ต่อให้เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนทำงานไม่ได้ตามปกติ ค้าขายไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ ก็คงสูญเสียกำไรกันไป แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร รับได้ ถ้าไม่ได้มีทุนสำรองเอาไว้เลย ก็คงจะเดือดร้อน โดยในส่วนที่ต้องฟื้นฟู รัฐบาลก็จะช่วยเต็มที่เยียวยาผู้คนที่ประสบความเดือดร้อนทั้งผู้ประกอบการ คนที่ตกงาน แต่ก็สามารถพิงระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขั้นหนึ่ง ตราบใดที่ไม่พิงจนกระทั่งล้มไปทั้งหมด” นายบัณฑูรกล่าว
นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังต้องติดตามโรคไวรัสโควิด-19 จะลากยาวแค่ไหน เพราะยิ่งลากยาวออกไป ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มาก และหวังว่ามาตรการต่างๆที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายแพทย์ทำกันอย่างเข้มข้นจะสกัดไวรัสได้ พร้อมทั้งระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อมาเยียวยาผลกระทบจากไวรัสแล้ว จะทำให้ในอนาคตระบบงบประมาณภาครัฐ ระบบธนาคารและระบบการเงินของประเทศไทยจะอยู่ในภาวะตึงตัว
“ถ้าเราไม่ได้เตรียมการไว้ขั้นหนึ่ง และรัฐบาลก็ไม่ได้กู้เงินมากเกินไปในอดีต พอครั้งนี้จำเป็นต้องกู้เงินมาเยียวยารักษาเศรษฐกิจ ก็ยังพอมีช่องที่ทำได้ แต่ต่อจากนี้ไปคงต้องตึงๆกัน รัฐบาลก็จะตึง ระบบธนาคารก็จะตึง ระบบการเงินก็จะตึง แต่ก็ยังเชื่อว่ารับได้” นายบัณฑูรกล่าว
นอกจากนี้ หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสคลี่แล้ว คนก็ต้องกลับมาทำมาหากินกันอีก และการกลับมาทำมาหากินในรอบนี้ก็ต้องคิดกันหนักว่าจะต้องทำมาหากินอะไร เพราะแม้ว่าเงินลงทุนและสินเชื่อจะยังพอหาได้ แต่จะให้คนไทยทำมาหากินประเภทไหนต้องคิดกัน และต้องเป็นการทำมาหากินที่ใช้องค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะเป็นพายุที่ก่อตัว และเป็นพายุที่ว่าเราไม่สามารถแข่งขันกับใครในโลกนี้ได้
“ความรู้ใหม่ต้องสร้างขึ้นมา ความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้ แม้กระทั่งช่วงหลังๆมานี่ได้ยินว่า สืบเนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด งบการสนับสนุนการวิจัยพวกนี้ก็ถดถอยไป ประเทศก็จะไม่มีการวิจัยอะไรเลย ซึ่งไม่ได้ มันต้องมี รัฐก็ต้องทำ เอกชนก็ทำได้ขั้นหนึ่ง บริษัทใหญ่สามารถลงทุนในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ สถาบันวิจัยที่มาจากการใช้เงินทุนของเอกชนก็มี เช่น สถาบันวิทยสิริเมธี ของบริษัท ปตท และวันนี้ก็ได้คิดค้นเครื่องมือทดสอบไวรัสได้ทันเวลาที่จะใช้” นายบัณฑูรย้ำ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/