สธ.แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 4 ราย กลับจากอิตาลี -อิหร่าน ยอดสะสม 47 ราย ‘อธิบดีกรมควบคุมโรค’ เผยข้อสั่งการนายกฯ ให้พิจารณาสถานที่ควบคุมโรค ภายใต้การควบคุมของรัฐ จัดหาชุดป้องกัน ย้ำมีเจ้าหน้าที่เพียงพอดูแลผู้ถูกกักกัน 14 วัน ขณะที่ประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตราย ให้รอราชกิจจานุเบกษา
วันที่ 5 มี.ค. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) พบว่า มีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสฯ เพิ่มขึ้น 4 ราย โดยรายที่ 1 ชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาจากอิตาลี เข้ามาในไทย วันที่ 1 มี.ค. ซึ่งในขณะผ่านช่องทาง ตรวจพบว่า ไม่มีไข้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวเองที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ด้วยอาการไข้ ไอ ปัจจุบันส่งรักษาตัวต่อที่ รพ.ชลบุรี
รายที่ 2 ชายชาวไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเดินทางมาจากอิตาลี เข้ามาไทย วันที่ 2 มี.ค. ซึ่งขณะผ่านช่องทางสนามบิน ตรวจพบว่า ไม่มีไข้เช่นกัน ภายหลังได้เข้ารับการรักษาตัวด้วยตนเอง ที่รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ในจ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ทั้งนี้ ย้ำว่า ทั้งสองรายที่เดินทางมาจากอิตาลีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน
รายที่ 3 ชายชาวจีน อายุ 22 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทางมาจากอิหร่าน เพื่อมาต่อเครื่อง เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งรายนี้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตรวจพบว่ามีไข้ ไอ น้ำมูก จึงส่งเข้าไปรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร
รายที่ 4 ชายชาวไทย อายุ 20 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทางกลับมาจากอิหร่าน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. โดยในขณะเดินทางผ่านด่านที่สนามบินไม่มีไข้ แต่ภายหลังเมื่อมีอาการไข้ น้ำมูก จึงมารักษาด้วยตนเอง และปัจจุบันยังคงรักษาตัวอยู่ใน รพ.แห่งหนึ่ง ของ จ.นครศรีธรรมราช
โดยสรุป ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายแล้ว 31 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 47 ราย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 1 ราย ยังคงรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร แม้จะตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 มาร่วม 1 สัปดาห์แล้ว แต่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากมีอาการวัณโรค
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อถึงข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข (อ่านประกอบ:'บิ๊กตู่' ตั้ง 'ศูนย์ข้อมูล COVID-19' ในทำเนียบ บูรณาการความช่วยเหลือทุกมิติ-รับบริจาคด้วย เเละนายกฯ แถลงผลประชุมแยก 'ผีน้อย' เป็น 2 กลุ่ม มาจากแทกู-คย็องซัง จัดพื้นที่กักตัว 14 วัน) ว่า ให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดการคัดกรอง ณ ท่าอากาศยาน และให้จำแนกกลุ่มคัดกรองดังนี้
1.หากป่วยหรือสงสัยป่วยให้ดำเนินการแยกพักรักษา ณ สถานพยาบาล
2.กรณีไม่ป่วย หากเดินทางมาจากพื้นที่มีการระบาดของโรคสูง ให้ดำเนินการแยกพัก ณ พื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐบาลกำหนด
3.กรณีไม่ป่วย หากเดินทางจากพื้นที่อื่น ให้ดำเนินการแยกพัก ณ พื้นที่อยู่ในการกำกับของผู้ว่าฯ และหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงกลาโหม กทม .และหน่วงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสถานที่เพื่อจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมโรค รองรับผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ และให้เตรียมชุดควบคุมโรคทุกแห่ง
พร้อมกันนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำหลักเกณฑ์ลักษณะสถานที่กักกันหรือพื้นที่ สถานที่ หรือพื้นที่ควบคุมโรค เพื่อรองรับข้อสั่งการของนายกฯ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งหลักเกณฑ์ประกอบด้วย การจัดสถานที่ การรักษาความปลอดภัย ห้องครัว ห้องพยาบาล ระบบจัดการขยะ สถานที่อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่สำคัญ การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลแต่ละวัน
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคต่อเนื่อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงกรณีหากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ให้กักตัวเฝ้าดูอาการ 14 วัน จะมีบทลงโทษอย่างไรนั้น ว่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคหรือผู้ได้รับมอบหมาย ซึ่งสอดรับกับข้อสั่งการนายกฯ โดยอยู่ในกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนั้น
ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดหรือ กทม. จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อ เพราะฉะนั้นคนไทยด้วยกัน ยกเว้นคนต่างชาติ ให้ใช้แนวทางเดียวกัน พร้อมขอความร่วมมือ ย้ำว่า คนกลุ่มนั้นยังไม่ป่วย หากมีอาการป่วย ให้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขแยกตัวส่งโรงพยาบาล
“ตอนนี้โรคไวรัสฯ ถูกประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เพราะฉะนั้นตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เจ้าพนักงานสามารถใช้อำนาจในหลายมาตรา กรณีพบว่าไม่ได้รับความร่วมมือ หากเจ้าพนักงานได้แจ้ง เช่น มาตรา 34 เกี่ยวกับการดำเนินการ มีในกฎหมายยังมีบทลงโทษ หากฝ่าฝืน”
(มาตรา 34 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอํานาจที่จะดําเนินการเองหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ ดังตอไปนี้
(1) ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็น ผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัย อาจดําเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกําหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ทั้งนี้ หากเป็นสัตว์ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์เป็นผู้นําสัตว์มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตร ทางการแพทย์)
นายแพทย์สุวรรณชัย ยังกล่าวยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ หากดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกฯ ให้การดูแลผู้ที่อยู่ในการกักกัน 14 วัน เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรค หรือผู้ได้รับมอบหมาย หมายความว่า เจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง เพราะในแต่ละจังหวัดมีพนักงานควบคุมโรคครบถ้วน ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหลายหน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ
หากมองว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรค จะต้องเป็นบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขหรือข้าราชการอย่างเดียว ตอบว่ากำลังไม่พอ ดังนั้น จึงมีข้อสั่งการให้การดำเนินการอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในจังหวัดหนึ่ง มีกำลังของบุคลากรภาครัฐ หน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมดำเนินการ
ส่วนประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตรายจะออกมาเมื่อใดนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ คาดว่าในไม่ช้า เพราะประกาศเหล่านี้ต้องลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ฉะนั้นเมื่อใดลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว นั่นหมายถึง ตัวประกาศที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย . (อ่านประกอบ:รอฉบับใหม่! สธ.เเจ้งยกเลิกประกาศฯ 9 ประเทศ เขตติดโรคโควิด-19)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/