‘เซ็นทรัล-บางกอกแอร์เวย์ส’ เปิดให้ลูกจ้างใช้สิทธิ์ ‘ลางาน’ โดยไม่รับค่าจ้าง เป็นเวลา 1 เดือน หวังลดภาระค่าใช้จ่าย ฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ล่าสุด 'ณุศาศิริ' ประกาศปิดการ-เลิกจ้างพนักงาน ตั้งแต่ 3 มี.ค.นี้
เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ลงนามประกาศแจ้งต่อพนักงานว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคไวรัสโคโรน่า ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับธุรกิจทั่วโลกและประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกับโรงแรมน้อยกว่าปกติดังนั้น บริษัทฯจึงขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงานทุกท่าน สมัครใจใช้สิทธิ์การลาแบบไม่รับค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค.2563 เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ
สำหรับเงื่อนไขการสมัครฯ ได้แก่ 1.พนักงานที่จะใช้สิทธิ์จะต้องเป็นพนักงานประจำเท่านั้น 2.พนักงานที่ใช้สิทธิ์การลาแบบไม่รับค่าจ้างครั้งนี้จะยังคงได้รับสวัสดิการต่างๆตามปกติ ทั้งเซอร์วิสชาร์จ และโบนัสประจำปี 3.พนักงานสามารถขอลาแบบไม่ได้รับค่าจ้างได้ โดยไม่มีจำนวนวันขั้นต่ำในการใช้สิทธิ์ดังกล่าว
4.ในกรณีที่พนักงานที่ขอใช้สิทธิ์ลาแบบไม่รับค่าจ้างตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป พนักงานจะได้รับส่วนลดพิเศษ 20% สำหรับการลาแบบไม่รับค่าจ้างนั้นๆ เช่น ขอลาแบบไม่รับค่าจ้าง 5 วัน แต่จะถูกหักค่าจ้างเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น (5-20%=4) หรือ ขอลาแบบไม่รับค่าจ้าง 9 วัน ถูกหักค่าจ้างเพียง 7.2 วันเท่านั้น (9-20% =7.2)
5.การลาแบบไม่รับค่าจ้างจะไม่นับรวมวันหยุดประจำสัปดาห์และจะได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ตามปกติ 6.พนักงานที่ต้องการใช้สิทธิ์จะต้องได้รับการอนุมัติจากหัวหนแผนกโดยตรง หัวหน้าฝ่าย และฝ่ายทรัพยากรบุคคล 7. พนักงานที่ต้องการใช้สิทธิ์สามารถส่งเอกสารขอใช้วันลาได้ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และใช้สิทธิ์ได้ถึงสิ้นเดือนมี.ค.2563 นี้ เท่านั้น 8.พนักงานสามารถขอใช้ Staff Rate ในการจองห้องพักโรงแรมต่างๆในเครือเซนทารา ควบคู่ไปกับการลาครั้งนี้ได้
ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงทุกคนที่สำนักงานใหญ่ ได้สมัครใจใช้สิทธิ์การลา จำนวน 5 วัน (4 วันไม่ได้รับค่าจ้าง)
ล่าสุดวันนี้ (28 ก.พ.) นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีภาวะชะลอตัวลง ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและการบิน
บริษัทฯ จึงได้มีการทบทวนแผนธุรกิจและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการออกมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการบินและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
โดยมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบินและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร บริษัทฯ มีแผนดำเนินการ ดังนี้ 1.ปรับลดความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนพิจารณายกเลิกเส้นทางบินในบางเส้นทาง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ปัจจุบัน
2.ปรับลดเงินเดือนของประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กรรมการ/รองผู้อำนวยการใหญ่สายงานบริหารกลาง และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี ลง 50%
3.ยกเลิกการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2563 ของผู้บริหารสูงสุดของฝ่าย 4. ปรับลดสวัสดิการของผู้บริหารและพนักงาน 5.ให้นายสถานีและรองนายสถานี ที่ประจำอยู่ ณ สถานีต่างประเทศและสถานีอื่น ๆ ในประเทศ ทำการโยกย้ายกลับมาประจำการที่สถานีกรุงเทพฯ 6.ขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงาน ในการลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without pay) จำนวน 10-30 วัน
นายพุฒิพงศ์ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน และการบริการแก่ผู้โดยสาร
วันเดียวกัน นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการเลเจนด์ สยาม (Legend Siam) สวนสนุกเชิงวัฒนธรรมแห่งแรกในไทย (Thai cultural theme park) และแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองพัทยา จ.ชลบุรี มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 เรื่อง ปิดกิจการเพื่อบรับปรุงและป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด ความว่า
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยตลอดปี 2562 ที่ผ่านมามีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก อีกทั้งปัจจุบัน ได้เกิดถานการณ์ภาวะโรคระบาดโคโรน่า 2019 (Covid-19) เป็นจำนวนมากและมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังที่ปรากฏทั่วไปตามสื่อต่างๆ มีผลทำให้ธุรกิจการท่องที่ยวของประเทศไทยชะลอตัวและลดลงอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากกว่าที่คาดคิด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชลบุรี
จึงเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่เขตท่องเที่ยว ทำให้บริษัทฯไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการแพร่กระจายซองโรคระบาดแก่นักทองเที่ยวและเพื่อรักษาสุขภาพของพนักงาน
ฝ่ายบริหารจึงเห็นสมควรปิดกิจการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อปรับปรุงและวางแผนกลยุทธ์ใหม่ จึงขอเลิกจ้างพนักงานทุกท่าน ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2563 เป็นคันไป
ทั้งนี้ การเลิกจ้างพนักงานทุกท่าน บริษัทฯจะจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยไห้ตามที่ฎหมายกำหด โดยได้มอมหมายให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นผู้จัดการดูแล ประสานงาน และดำเนินกับท่านให้เรียบร้อยต่อไป
ท้ายนี้ ฝ่ายบริหารขอบคุณทุกท่าน ที่ไปฏิบัติงานอย่างทุ่มเทและตั้งใจให้กับบริษัทฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารมั่นใจว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในเวลาไม่นาน บริษัทฯจะเปิดกิจการและรับท่านกลับเข้ามาทำงานโดยเร็วต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน ทำให้มีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารลดลง ฝ่ายบริหารจึงได้ร่วมกันกำหนดแผนการรับมือกับภาวะวิกฤตดังกล่าว โดยได้วิเคราะห์ผลกระทบในทุกสถานการณ์อย่างรอบคอบ ตั้งแต่ผลกระทบระดับน้อยจนถึงมากที่สุด
สำหรับแนวทางการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเริ่มจากการปรับลดค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่เกิดจากการปฏิบัติการบิน พร้อมทั้งปรับลดและชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น การปรับลดแรงงานให้สอดคล้องกับปริมาณงาน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงความเสียสละของผู้บริหารระดับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการใหญ่ ได้สมัครใจปรับลดเงินเดือนลง 15-25% และปรับลดค่าพาหนะลง 20-30% เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้บริษัทฯยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพนักงาน
ขณะที่เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา สายการบิน ‘นกสกู๊ต’ ซึ่งเป็นสายการบินที่ร่วมทุนระหว่างสายการบินนกแอร์ของไทย และสายการบินสกู๊ตของสิงคโปร์ ออกแถลงการณ์ว่า จากการประเมินทางธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 สายการบินนกสกู๊ตได้ตัดสินใจดำเนินการปรับลดขนาดธุรกิจในปี 2563 ซึ่งการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) แต่ประการใด
ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การปรับลดขนาดธุรกิจในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 47 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นักบิน 11 ตำแหน่ง และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 36 ตำแหน่ง ซึ่งได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นไปตามกรอบของกฎหมายแรงงาน
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจการบริการและธุรกิจการบิน สายการบินนกสกู๊ตได้ใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในเร็ววัน
อ่านประกอบ :
สู้ไวรัส! 'สิงคโปร์แอร์ไลน์' จ่อลดชม.ทำงานพนักงาน 'บิ๊กบินไทย' หั่นเงินเดือน 15-25%
สศช.เผยไตรมาส 4/62 หนี้เสียเพิ่ม จับตา ‘โควิด-ภัยแล้ง’ กระทบว่างงาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/