สศช.เผยหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/62 แตะ 13.24 ล้านล้านบาท เติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน หลังการปล่อยสินเชื่อ ‘บ้าน-รถ’ ชะลอตัว ระบุแม้หนี้เสียไตรมาส 4/62 จะเพิ่มเป็น 2.9% แต่เชื่อทั้งปี 63 ไม่เกิน 3% จับตาผลกระทบ ‘โควิด-ภัยแล้ง’ กระทบอัตราว่างงาน
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2562 ว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหนี้สินครัวเรือนเติบโตในอัตราชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโต 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/2562 เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562 เนื่องจาการชะลอตัวของการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อรถยนต์ แต่ถ้ามองในแง่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี พบว่าสัดส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 79.1% ของจีดีพี เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 78.8% ของจีดีพี เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ดังนั้น เมื่อหนี้สินเท่าเดิม แต่จีดีพีน้อยลดลง เปอร์เซ็นต์สินครัวเรือนต่อจีดีพีจึงเพิ่มขึ้น”นายทศพรกล่าว
นายทศพร ยังระบุว่า ในส่วนของหนี้สินด้อยคุณภาพ (NPL) ในไตรมาส 4/2562 พบว่าอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.90% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2562 ที่ NPL อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.81% ของสินเชื่อรวม โดย NPL ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค และยังต้องเฝ้าระวังอยู่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ NPL เพิ่มขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่า NPL ทั้งระบบไม่น่าจะเกิน 3%
สำหรับสถานการณ์การจ้างงานในปี 2562 นั้น การจ้างงานอยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีการจ้างงาน 37.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้ การส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 2.1% ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง 2.9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัยในปีที่แล้ว แต่การจ้างงานในภาคบริการยังคงเพิ่มขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว
ส่วนอัตราว่างงานในไตรมาส 4/2562 ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีอัตราว่างงาน 0.99% มีผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 ที่มีอัตราว่างงาน 1.04% ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการว่างงานของไทยค่อนข้างคงที่ คือ มีผู้ว่างงานอยู่ที่ไม่เกิน 3.7-4 แสนคน ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวัฏจักรเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีการบริหารจัดการแรงงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดชั่วโมงการทำงานลง ลดการทำงานล่วงเวลา และมีการใช้ม.75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว แต่ยังได้รับเงินเดือน 70% โดยสถานประกอบการที่มีการใช้ ม.75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ณ วันที่ 2 ธ.ค.2562 มีจำนวน 260 แห่ง ส่วนสถานประกอบการที่หยุดกิจการมีประมาณ 1,000 แห่ง
นายทศพร ยังถึงแนวโน้มอัตราว่างงานในปี 2563 ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ โดยจะมีการติดตามผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การส่งออก สถานการณ์ภัยแล้งที่จะมีผลกระทบต่อภาคเกษตร และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด สศช.ประเมินว่าจะคลี่คลายในเดือนพ.ค.นี้ และพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้น
“อัตราว่างงานในปีนี้ คงพูดยาก เพราะจะต้องดูปัจจัยต่างๆก่อน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ไวรัสโควิดที่ยังต้องติดตามว่าจะคลี่คลายในเดือนไหน ซึ่งเราประเมินว่าจะเป็นเดือนพ.ค. น่าจะกลับมา ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารหน้า (3 มี.ค.) จะมีพิจารณามาตรการกระตุ้นการจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคเกษตร และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอย่างนี้ ภาครัฐจะทยอยออกมาตรการสินเชื่อออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ”นายทศพรกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/