'แบงก์ชาติ' จับมือพันธมิตร เดินหน้า 'คลินิกแก้หนี้' ระยะที่ 3 ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ให้ครอบคลุม NPLs ก่อน 1 ม.ค.63 พร้อมรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรทั้งที่อยู่ในกระบวนการของศาล-คดีที่มีคำพากษาแล้ว
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่อยู่ในระดับน่ากังวลใจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มไม่สดใสนัก ดังนั้น ธปท.จึงเห็นว่าการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของธปท.ที่จะดำเนินการในปีนี้
"เมื่อดูข้อมูลภาระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยพบว่าประมาณ 40% เป็นหนี้ส่วนบุคคลเพื่ออุปโภคบริโภค ที่ระยะเวลาผ่อนสั้นและมีอัตราดอกเบี้ยแพง ซึ่งหนี้บัตร ทั้งบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดถือเป็นส่วนใหญ่ของหนี้กลุ่มนี้" นางธัญญนิตย์กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่กลางปี 2560 ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้หนี้ส่วนนี้ผ่าน 'โครงการคลินิกแก้หนี้' ซึ่งข้อมูล ณ ธ.ค.2562 สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้ว 3,194 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ มีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 234,843 บาท ในจำนวนนี้ 72 รายชำระหนี้หมดแล้ว สามารถหลุดจากวงจรหนี้บัตร
ขณะที่ปัจจุบันโครงการคลินิกแก้หนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่ “ระยะที่ 3” แล้ว แต่โครงการฯระยะดังกล่าว จะขยายขอบเขตการแก้ปัญหาหนี้สินให้ลูกหนี้ โดยให้สามารถแก้ไขหนี้บัตรฯที่มีเจ้าหนี้รายเดียว และหนี้บัตรที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว รวมทั้งปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าโครงการฯ จากเดิมต้องมีหนี้บัตรฯที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) ก่อน 1 ม.ค.2562 แต่ขณะนี้เปลี่ยนมาเป็นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563
"พูดง่ายๆ คือ หลังจากที่ปลดข้อจำกัดเรื่องต่างๆแล้ว โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรของประชาชนได้ในแทบทุกกลุ่ม"นางธัญญนิตย์กล่าว
นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้โครงการจะเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบ คือ หนึ่ง SAM ทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยเจรจาและประสานงานระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้บัตรที่อาจมีเจ้าหนี้หลายรายเกิดขึ้นได้ จากปกติที่การเจรจาให้สำเร็จเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นยาก อีกทั้งลูกหนี้จะไม่ถูกทวงจากเจ้าหนี้หลายราย รวมทั้งจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและปรับโครงสร้างหนี้
และสอง ลูกหนี้จะได้รับข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ คือ ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยมีระยะเวลาผ่อนนานถึง 10 ปี ซึ่งปกติถ้าไปเจรจากับเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเรียกให้จ่ายคืนภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น 6 เดือน
"การไม่เร่งรัดและให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานเพียงพอ หมายความว่า ยอดที่ต้องผ่อนต่อเดือนจะไม่สูง เช่น ถ้ามีหนี้ 5 หมื่น และ 1 แสนบาท ยอดผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 600 และ 1,200 บาทเท่านั้น และเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญาจะยกดอกเบี้ยค้างชำระให้ทั้งหมด"นางธัญญนิตย์กล่าว
ปัจจุบันโครงการคลินิกแก้หนี้ มีสถาบันการเงิน non-bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นสมาชิกรวม 35 แห่ง ทำให้โครงการฯ กลายเป็น “เครือข่ายที่ช่วยเหลือประชาชนแก้หนี้บัตร” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยธนาคารออมสินถือเป็นสมาชิกใหม่รายล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการฯ
นายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือลูกหนี้ และถือเป็นเรื่องสำคัญของธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้เสียบัตร
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เริ่มโครงการ refinance หนี้บัตรดีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดีเยี่ยม ที่เดิมต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง 18% หรือ 28% แต่โครงการนี้จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 8.50-10.50% ตามความเสี่ยง อีกทั้งจะสนับสนุนให้ลูกค้านำเงินที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือนจากการ refinance ไปเก็บออมไว้ เช่นซื้อสลากออมสินด้วย
"โครงการ refinance บัตรดี นอกจากจะช่วยลดภาระประชาชนแล้วยังส่งเสริมการออมสำหรับอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้เสียและการ refinance หนี้บัตรดีจะสัมฤทธิ์ผลสูงสุด หากลูกหนี้ใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวินัยทางการเงิน วางแผนชีวิต และใช้จ่ายอย่างเหมาะสม" นายโชคชัยกล่าว
นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า โครงการฯในระยะที่ 3 จะมีการปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้อำนวยความสะดวกและช่วยตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีขึ้น
"เราให้ความใส่ใจตั้งแต่การให้คำปรึกษา ขั้นตอนสมัครจนถึงลงนามในสัญญา ขั้นตอนทั้งหมดต้องสั้นกระชับ ไม่เสียเวลาลูกค้ามากจนเกินไป รวมทั้งจะทำงานเชิงรุกด้วยการเปิดบริการพิเศษในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อรองรับลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาที่สำนักงานในช่วงวันทำการปกติ ตลอดจนจะลงพื้นที่ออกไปพบลูกค้าตามสถานประกอบการทั่วประเทศมากขึ้น"นายนิยตกล่าว
นอกจากนี้ โครงการฯระยะที่ 3 จะประสานความร่วมมือกับศาลและกรมบังคับคดีเพื่อหาข้อสรุปในขั้นตอนไกล่เกลี่ย ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เปิดเผยว่า SAM จะสมัครเข้าเป็นตัวแทน (agent) ของ NCB และจะร่วมกันปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและส่งข้อมูล ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เริ่มได้เร็วขึ้นและใช้เวลาโดยรวมสั้นลง อีกทั้ง NCB จะพิจารณาสนับสนุนโครงการฯ โดยมอบคูปองยกเว้นค่าตรวจสอบรายงานเครดิตบูโรสำหรับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ (ปกติมีค่าใช้จ่าย 100 บาท) ซึ่งลูกหนี้ที่สนใจสามารถขอรับคูปองดังกล่าวกับ SAM ได้ตั้งแต่บัดนี้
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารของโครงการฯ ได้ในหลายช่องทาง เช่น www.คลินิกแก้หนี้.com และ www.debtclinicbysam.com แอดไลน์ @debtclinicbysam Facebook คลินิกแก้หนี้ และ Debtclinicbysam หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-610-2266 ทุกวัน
อ่านประกอบ :
หนี้ครัวเรือนพุ่ง-NPLs เพิ่ม ถ่วงเศรษฐกิจ ‘แบงก์’ เตือนธปท.อย่าคุมเพดานกู้เงิน
ธปท.ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งไม่หยุด แถมผ่อนสั้น-ดอกเบี้ยสูง
SCB EIC เผยภาระหนี้ต่อรายได้ 'ครัวเรือนไทย' พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/