เผยผลสอบลับ สตง. คดีทุจริตตกแต่งตึกสนง.ข่าวกรองแห่งชาติ ปี 54 ชี้มูลความผิดอาญา-วินัยผู้เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการทางละเมิดเรียกชดใช้เงิน 11.37 ล้าน ส่งเรื่อง ป.ป.ช. คุ้ยต่อ หลังพบพฤติการณ์เอื้อปย. เอกชน 3 ราย ผ่านคัดเลือกแข่งขันเสนอราคา ก่อนมีการสมยอม ทำราคางานสูงกว่าราคากลาง ราชการได้รับความเสียหาย
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำเสนอข่าวกรณี คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กรณีการดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังได้รับแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ที่ปรากฏพฤติการณ์น่าเชื่อว่ากระทำการทุจริตในโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ปี 2554 ตามรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
โดยยืนยันว่า เมื่อปรากฏผลการตรวจสอบถึงพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต ระบุชัดเจนถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทําผิด พร้องทั้งพยานหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด สํานักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องดําเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงอีก แต่หากไม่ดำเนินการอาจเข้าข่ายละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดทางอาญาหรือเป็นการช่วยเหลือผู้กระทําความผิดอันอาจเป็นความผิดทางวินัย ซึ่ง สตง.อาจแจ้งให้สํานักงานคณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติได้
สำหรับกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ถูกสตง.ชี้ว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการดำเนินงานโครงการจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ประกอบไปด้วย กลุ่มคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์ จำนวน 6 ราย กลุ่มคณะกรรมการประกวดราคาจ้าง 6 ราย และข้าราชการอื่นอีก 2 ราย (อ่านประกอบ : พร้อมทำตามกฤษฎีกาตีความ! ผอ.ข่าวกรองแห่งชาติ ทราบคดีทุจริตตกแต่งตึกสนง.ปี54 แล้ว, มีหน้าที่เล่นงานวินัย-ไม่ต้องสอบซ้ำ!กฤษฎีกาชี้คดีทุจริตตกแต่งตึกสนง.ข่าวกรองแห่งชาติ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ สตง. ได้ชี้มูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางอาญาและวินัย รวมไปถึงดำเนินการทางละเมิดเรียกชดใช้เงินจำนวน 11.37 ล้านบาท คืนจากผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง และแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าผลการสอบสวนแต่อย่างใด
แหล่งข่าวจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ยังระบุด้วยว่า สำหรับปัญหาที่ตรวจสอบพบในการดำเนินงานโครงการนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการกีดกันบริษัทเอกชนรายหนึ่ง และมีการเอื้อประโยชน์เพื่อให้บริษัทเอกชน 3 ราย ผ่านการคัดเลือกเข้าไปแข่งขันเสนอราคา ก่อนที่จะมีการสมยอมราคากันเป็นสาเหตุทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้สูงกว่าราคากลาง ราชการได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 11.37 ล้านบาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/