ศาล รธน. มติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน-เรืองไกร’ ปม ‘บิ๊กตู่-ครม.’ ถวายสัตย์ไม่ครบ ชี้เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหาร ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหายของการกระทำของรัฐบาล ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรใด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ผลการพิจารณา กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษา ม.รามคำแหง ร้องว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าว
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายภาณุพงศ์ ผู้ร้อง เห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (11) และมาตรา 46 ก็ตาม
แต่ พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรืเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล …” และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “…ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา” เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 (1) ศาลรัฐธรรมนูญไม่อำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 46 วรรคสาม
ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 เวลา 09.00 นาฬิกา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าว
@ไม่รับคำร้อง ‘เรืองไกร’ ปม ‘บิ๊กตู่’ ถวายสัตย์ฯไม่ครบ ทำการล้มล้างการปกครองด้วย
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้วินิจฉัยว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องเช่นกัน โดยเห็นว่า เป็นเพียงกรณีที่นายเรืองไกรอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีการเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์!ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัยปม‘บิ๊กตู่-ครม.’ถวายสัตย์ไม่ครบ