ผู้ตรวจการแผ่นดิน มติเอกฉันท์! ส่งคำร้อง นศ.ม.รามคำแหง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปม ‘บิ๊กตู่-ครม.’ ถวายสัตย์ฯไม่ครบ ชี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขัด ม.5 รธน. ‘บิ๊กตู่’ส่งหนังสือแจ้งแล้วแต่ฟังไม่ขึ้น
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงถึงกรณีการยื่นเรื่องร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง กรณีการถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 โดยมีผู้ยื่นร้องเรียน 3 ราย ได้แก่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ และนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษา ม.รามคำแหง
นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องของนายภาณุพงศ์ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจงอ้างว่า ได้ถวายสัตย์ฯครบถ้วนแล้ว และเป็นการกระทำตามขั้นตอนกระบวนการ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า นายภาณุพงศ์ ยื่นคำร้องเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าการถวายสัตย์ฯของ พล.อ.ประยุทธ์ พูดไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ดังนั้นอาจทำให้ผลการกระทำหลังจากนั้น เช่น มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายเร่งด่วน อาจไม่เป็นผล และทำให้นายภาณุพงศ์ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จึงมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
สำหรับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า กรณีนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 161 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับหน้าที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ต้องทำตามกระบวนการขั้นตอนก่อนเข้ารับหน้าที่ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะต้องกระทำไปตามกระบวนการขั้นตอนแล้ว ยังต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย
@ข้อเท็จจริงชัดพูดถวายสัตย์ฯไม่ครบ-‘บิ๊กตู่’อ้างสมบูรณ์แล้วทั้งนิตินัย-พฤตินัย
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ด้วยถ้อยคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ตลอดไป” เห็นว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ มีหนังสือชี้แจง อ้างว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ฯตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการกระทำครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติโดยสำเร็จสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย ทั้งตามกฎหมาย และประเพณีการปกครอง และยุติลงแล้วก็ตาม
@มติผู้ตรวจฯชี้ขัด ม.5 รธน. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
แต่เมื่อคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณยังขาดถ้อยคำที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” จึงเป็นการกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติ หรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
อันส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงมีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจเหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ
ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การกระทำของพล.อ.ประยุทธิ์ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ จึงยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
@ตีตกคำร้อง‘ศรีสุวรรณ-อัยย์’
ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณ และนายอัยย์ ที่ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองวินิจฉัย ตามมาตรา 23 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 กรณีถวายสัตย์ฯของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำที่เพิ่มขึ้นใหม่ และไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น
นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ไม่เสนอเรื่องของผู้ร้อง 2 รายดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยจากการพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าว เป็นการกระทำ มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 23 (1) ของ พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ส่วนมาตรา 23 (2) ที่ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองนั้น เมื่อคำกล่าวถวายสัตย์ฯเป็นการกระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่เป็นการกระทำตามปกครอง หรือการใช้อำนาจทางปกครอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/