ศาล รธน. ชี้แจง สามารถถูกวิจารณ์คำวินิจฉัย-คำสั่งทางคดีได้ แต่ต้องทำโดยสุจริต ไม่มีข้อความหยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย คลุมถึงการใช้สื่อ-โซเชียลฯด้วย หากพบทำความผิด โทษคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 210 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 คือการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองและความมั่นคงแห่งรัฐ การพิจารณากรณีที่มีกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น กำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี ซึ่งในการพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีนั้น ก่อน พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มีผลบังคับใช้ นักการเมืองหรือประชาชนหรือบุคคลทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนในกรณีกระทำการเกินเลยไปถึงขั้นดูหมิ่น ข่มขู่ หรือคุกคามศาล หรือตุลาการ ผู้กระทำอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดเรื่องดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือดูหมิ่นศาลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1136 หรือมาตรา 198 ตามลำดับ
ปัจจุบัน พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2561 การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 38 วรรคสาม โดยการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีนั้น จะต้องกระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำ หรือมีความหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ด้วย
ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาลหรือบริเวณที่ทำการศาลหรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล กรณีมีความจำเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งให้บุคคลใดกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปไปด้วยความสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ตลอดจนมีอำนาจในการออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเพื่อให้กระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (3)
เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า การบังคับใช้บทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่กรณี และให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในบริเวณศาล และนอกศาล และป้องกันการประวิงคดี และการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขตและไม่สุจริต ทั้งนี้ศาลจะใช้ตามความจำเป็นเพื่อให้อำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำชี้แจงกรณีหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ดีคราวนี้เป็นการชี้แจงครั้งแรกภายหลัง พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯปี 2561 มีผลบังคับใช้
อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัย กรณีความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเนื่องจากเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นหรือไม่ และกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองหรือไม่ (อ่านประกอบ : ศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย ปม'บิ๊กตู่'ขาดคุณสมบัติ-'ธนาธร-อนค.'ล้มล้างการปกครองฯ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/