‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดตัดสินคดี ‘ยิ่งลักษณ์’ ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง 'คลัง' เรียกชดใช้ค่าสินไหมฯ ‘จำนำข้าว’ 3.5 หมื่นล้าน 22 พ.ค.นี้
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อผ.163-166/2564 ระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ พวกรวม 2 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 9 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทที่เกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นางสาวยิ่งลักษณ์) ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6) ได้มีคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง กระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นางสาวยิ่งลักษณ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท เพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 (กรมบังคับคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 อธิบดีกรมบังคับคดี ที่ 8 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 ที่ 9) ในการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว
และเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ตามหนังสือลับ ด่วนที่สุดที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของผู้ฟ้องคดีที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิดในมูลละเมิดเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน
แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิดมากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ
อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏในคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า “...แต่โดยที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้สั่งการ ทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด... โดยถือว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องใน 2 ขั้นตอน คือการเสนอโครงการและการเบิกจ่ายเงิน เสมือนเป็นทั้งผู้อนุมัติโครงการและผู้อนุมัติเบิกจ่ายเงิน จึงมีสัดส่วนความรับผิดในแต่ละขั้นตอน ร้อยละ 10
เมื่อรวม 2 ขั้นตอนแล้ว คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ควรมีสัดส่วนความรับผิดเท่ากับร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย จำนวน 178,586,365,141 บาท ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดจำนวน 35,717,273,028.23 บาท...”
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ยอมรับว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด การกำหนดสัดส่วนให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิด จึงมิได้เป็นไปตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 17 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุดที่ กค 0406.2/ว 66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550
นอกจากนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในแผนการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีรัฐมนตรี และส่วนราชการที่จะต้องดำเนินการจัดทำภารกิจให้เป็นไปตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ร่วมกันจัดให้มีการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจของรัฐที่ส่วนราชการดำเนินการอยู่เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรี สำหรับเป็นแนวทางในการพิจารณาว่า ภารกิจใดสมควรจะได้ดำเนินการต่อไป
หรือยกเลิกและเพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งงบประมาณของส่วนราชการในปีต่อไป โดยในการประเมินความคุ้มค่า ให้คำนึงถึงประเภทและสภาพของแต่ละภารกิจ ความเป็นไปได้ของภารกิจหรือโครงการที่ดำเนินการประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะพึงได้และรายจ่ายที่ต้องเสียไปก่อนและหลังที่ส่วนราชการดำเนินการด้วย
คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติตามโครงการรับจำนำข้าว และไม่อาจพิจารณาเพียงจากผลกำไรขาดทุนทางบัญชี จากการซื้อและขายข้าวตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการฯ โดยต้องคิดคำนวณการหักค่าข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวคงเหลือในคลังสินค้าการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการระบายข้าวอยู่เป็นจำนวนมากให้ได้ข้อยุติก่อน
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย คิดเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ประกอบกับการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าว มีการดำเนินการในรูปแบบของกรรมการ ซึ่งจะต้องอาศัยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก แม้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จะอยู่ในฐานะประธาน แต่ก็มิอาจมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ ยับยั้ง อนุมัติ เห็นชอบหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ได้นำการตั้งกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยื่นญัตติต่อคณะรัฐสภา เรื่อง ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเกี่ยวกับการที่เกษตรกรถูกโกงความชื้น และระหว่างดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ว่า การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการทุจริตเกิดขึ้นมาประกอบการให้เหตุผลในคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้เงินค่าเสียหาย นั้น
การตั้งกระทู้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ที่เป็นการค้านอำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ อันเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ตอบกระทู้ สรุปความได้ว่า ...ได้มีการอนุมัติให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด 10 จังหวัด และในโครงการนี้ที่ผ่านมาดีเอสไอ (DSI) ก็รับเรื่องของโครงการทุจริตที่จังหวัดกาญจนบุรีไปเป็นคดีพิเศษ เรียบร้อยแล้ว...
กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ
คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ถึงที่ 9 จึงไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด
และไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่า ตนมีกรรมสิทธิรวมกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด โดยมีมูลเหตุมาจากคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 9 จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด