‘กฤษฎีกา’ ชี้ ‘กพช.’ มีอำนาจมีมติให้ ‘3 การไฟฟ้า’ ชะลอลงนามสัญญารับซื้อ‘ไฟฟ้าหมุนเวียน’ 3,668 MW รอผลการตรวจสอบ ‘ความถูกต้อง’ แนะต้องมีกรอบเวลาการตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อไม่สร้างผลกระทบมากเกินสมควรต่อ ‘ผู้ได้รับการคัดเลือก’
......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ (MW) และให้ชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
ต่อมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พน (กพช.) 0605/54 ลงวันที่ 9 ม.ค.2568 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอหารือว่า กพช. สามารถชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม และชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อนได้หรือ และทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องปฏิบัติตาม หรือไม่นั้น (อ่านประกอบ :‘สภาผู้บริโภค’จี้‘กกพ.’ยุติซื้อไฟฟ้าสีเขียว-‘พีระพันธุ์’นั่งหัวโต๊ะ‘กพช.’เคาะชะลอเซ็นสัญญา)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องเสร็จที่ 197/2568 โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีความเห็นว่าว่า กพช.มีอำนาจที่จะมีมติชะลอการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มเติมฯ ปริมาณรวม 3,668.5 MW และชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องต่อไป
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การชะลอการลงนามสัญญาของการไฟฟ้า จะต้องมีการวางแนวทางการตรวจสอบความถูกต้องและกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อมิให้เกิดผลกระทบมากเกินสมควรต่อผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกฯ
สำหรับรายละเอียดข้อหารือของ สนพ. ในประเด็นข้อกฎหมาย และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องเสร็จที่ 197/2568 มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การที่ กพช. ได้มีมติให้ดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 เป็นไปตามข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เห็นว่า โดยที่มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และมาตรา 6 (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี
และมีอำนาจหน้าที่ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ
การที่ กพช. มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 รับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ และเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เพื่อรองรับนโยบายในการบริหารและพัฒนาพลังงานด้านไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และเพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการประสานการดำเนินการของคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศตามมาตรา 6 (3) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติฯ โดยชอบแล้ว
ประเด็นที่สอง กพช. สามารถชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม และชะลอการลงนามสัญญากับสามการไฟฟ้าไว้ก่อนได้หรือไม่ และสามการไฟฟ้าต้องปฏิบัติตาม หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เห็นว่า เมื่อได้พิจารณาในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า การที่ กพช. มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากต่อมา กพช. พิจารณาแล้วเห็นว่า มติดังกล่าวไม่เหมาะสม หรือมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาทบทวนให้สอดคล้องกับสภาพกาลที่เปลี่ยนแปลงไป กพช. ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว ย่อมมีอำนาจหน้าที่ทบทวนหรือแก้ไขมติของตนได้ตามที่เห็นสมควร
หรือในกรณีที่ กพช. เห็นว่า มีการดำเนินการใดที่ยังไม่สอดคล้องกับมติเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 หรือมติใดๆ ที่่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีขึ้นในภายหลัง กพช. ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ติดตาม ดูแล ประสาน และประเมินผลการปฏิบัติงานด้านพลังงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานในด้านนโยบายและการบริหารพลังงานของประเทศมีเอกภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้นตามความุ่งหมายของกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
กพช. ย่อมอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 (3) แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติฯ ในการติดตามและตรวจสอบเพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับมติดังกล่าวได้ และอำนาจดังกล่าว ย่อมรวมถึงการมีมติให้คณะกรรมการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ในระหว่างการติดตามและตรวจสอบ เพื่อมิให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมอันก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยา
ดังนั้น กพช. ย่อมมีอำนาจที่จะมีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม และชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องต่อไป
อย่างไรก็ดี การชะลอการลงนามสัญญาของการไฟฟ้าจะต้องมีการวางแนวทางการตรวจสอบความถูกต้องและกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อมิให้เกิดผลกระทบมากเกินสมควรต่อผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกฯ
ประเด็นที่สาม กรณีมีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเรียกร้องให้ภาครัฐชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชะลอการดําเนินงานดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐใดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เห็นว่า โดยที่มติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 เป็นเพียงการชะลอการลงนามสัญญาของการไฟฟ้าเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เมื่อยังไม่ปรากฏผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว กรณีจึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่าความเสียหายจากการชะลอการดำเนินการนั้นเกิดขึ้นในกระบวนการขั้นตอนใด และอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลหรือหน่วยงานใด ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป จึงไม่อาจให้ความเห็นในประเด็นนี้ได้
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภค’จี้‘กกพ.’ยุติซื้อไฟฟ้าสีเขียว-‘พีระพันธุ์’นั่งหัวโต๊ะ‘กพช.’เคาะชะลอเซ็นสัญญา
‘พีระพันธุ์’สั่งทบทวนหลักเกณฑ์เปิดประมูล‘ไฟฟ้าพลังงานสะอาด’ 3,600 MW
'พรรคประชาชน'จี้‘รบ.แพทองธาร’ยกเลิกรับซื้อไฟฟ้า 3.6 พันเมกฯ ชี้'ปชช.'จ่ายแพงเกินจริงแสนล.