สมช.หารือ สตช.-อสส.-ยธ.ถกปมส่งตัว 48 อุยกูร์กลับจีน ถกปม ม.13 กฎหมายอุ้มหายด้าน กสม.เข้าพบจุฬาราชมนตรี หวังช่วยประสาน รบ.ค้านส่งตัวกลับ หวั่นถูกทรมานถึงชีวิต ชี้ส่งตัวไปประเทศที่สามตามความสมัครใจจะเกิดประโยชน์มากกว่า
สำนักข่าวอิศรา (www.israenews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชชยชัย เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีการเชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมการประชุมหารือในประเด็นเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน โดยหน่วยงานที่ว่า มีอาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) และอัยการสูงสุด (อสส.)
โดยในที่ประชุม นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อสส. ได้ชี้แจงถึงข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องมาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีบทบัญญัติระบุชัดว่า ”ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย“
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าต่อมาในวันที่ 24 มกราคม ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของ กสม. นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กสม.ได้กล่าวตอนหนึ่งว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เข้าพบหารือกับนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ สำนักจุฬาราชมนตรี กรณีมีข่าวจะมีการส่งผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่ถูกจับในข้อหาเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย และถูกกักตัวไว้นานกว่า 10 ปี กลับประเทศต้นทาง
นายสุชาติกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ทางประเทศมุสลิมภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of the Islamic Cooperation: OIC) ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 57 ประเทศ และมีหน่วยงานชื่อ คณะกรรมาธิการอิสระถาวรว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (OIC Independent Permanent Human Rights Commission: IPHRC) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากรัฐบาลไทยไม่ส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับไปได้รับอันตราย และเลือกที่จะส่งตัวไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจแทน จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศมากกว่า
"จากการหารือ ท่านจุฬาราชมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
เห็นสอดคล้องกับทาง กสม. และรับที่จะสื่อสารกับทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยกันรักษาผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก รวมถึงโลกมุสลิม โดยจะเร่งดำเนินการต่อไป" นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติยังกล่าวอีกว่าก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 กสม. เคยมีข้อเสนอแนะให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรม รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ไปยังประเทศที่สามที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 กสม. ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งข้อเสนอแนะในการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อเสนอหลายประการก็ได้รับการตอบรับ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนทั้งองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย ได้แสดงความห่วงกังวลมายัง กสม.
ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในเร็ว ๆ นี้ ว่าอาจมีวาระหารือเรื่องการขอให้ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง ดังนั้น ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 มกราคม 2568 ถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คนกลับไปที่จีน เพราะอาจเสี่ยงที่จะถูกทรมาน
โดยหนังสือลงวันที่ 17 มกราคม 2568 ระบุว่า
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหนังสือ โดยหนังสือที่ลงนามโดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. มีรายละเอียดดังนี้
อนุสนธิหนังสือที่อ้างถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กราบเรียน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาของผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ทั้งสภาพความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ และได้มีข้อเสนอแนะ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
กสม. ขอกราบเรียนข้อมูลและข้อพิจารณา ดังนี้
1. กสม. ได้รับทราบข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สื่อมวลชนต่างประเทศ รวมถึงสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทยว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมีกําหนด จะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในเร็ว ๆ นี้ อาจมีวาระหารือเรื่องการขอให้ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ ทําให้ทุกภาคส่วนมีความกังวลต่อข่าวข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากการส่งกลับดังกล่าวอาจทําให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ได้รับอันตรายถึงชีวิต ประกอบกับที่ผ่านมา สํานักงานตรวจคนเข้าเมืองให้ชาวอุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวที่สถานกักตัว คนต่างด้าว สํานักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ตั้งแต่ปี 2556 ลงนามในแบบฟอร์มเกี่ยวกับความสมัครใจ ในการเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือเดินทางไปยังประเทศที่สาม และให้บันทึกภาพไว้เพื่อเป็นข้อมูล ส่งผลให้ ชาวอุยกูร์กว่า 40 คนในสถานกักตัวดังกล่าวเกิดความวิตกกังวล รวมตัวกันอดอาหารเพื่อต่อต้านและเรียกร้อง ไม่ให้ส่งตัวกลับประเทศต้นทาง
2. การส่งบุคคลไปยังดินแดนที่มีเหตุควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายต่อชีวิต เป็นการ กระทําที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ห้ามผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement) รวมถึง การถูกคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิด ด้านการเมือง การส่งกลับดังกล่าวยังขัดต่อทั้งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทําอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) โดยรัฐภาคีมีหน้าที่ที่จะต้องดําเนินมาตรการทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือ มาตรการอื่น ๆ เพื่อประกันว่าจะไม่มีการส่งหรือผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตรายด้วย
3. กสม. ขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรี สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา แสดงให้ เห็นถึงความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อประเทศไทยในอันที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามที่ได้ประกาศไว้ในการหาเสียง แต่การส่งชาวอุยกูร์กลับไปสู่อันตรายเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่สําคัญ
ซึ่งไม่เพียงจะทําให้นานาประเทศเกิดความคลางแคลงใจในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเท่านั้น แต่ยังจะมี ผลกระทบอย่างสําคัญต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์กับ กลุ่มประเทศมุสลิม สถานะของประเทศไทยในองค์การความร่วมมืออิสลาม และความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
4. ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. จึงขอให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วนว่า ประเทศไทยจะประกันความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ โดยจะไม่มีการส่งผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางซึ่งจะเป็นการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย อันจะนําไปสู่ผลประโยชน์ของประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจการเมือง และสังคมโดยรวม
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 24 ม.ค.