นักกฎหมายแจง ‘อิศรา’ ยืนยัน จนท.ไทยส่งตัว 48 ชาวอุยกูร์กลับจีนไม่ได้ เพราะขัด ม.กฎหมายป้องกันทรมาน ปี 56 ชี้หาก จนท.ยังดึงดันฝ่าฝืนกฎหมาย ส่งตัวกลับไป อาจเข้าข่ายผิด ม.157
สืบเนื่องจากที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวว่าประเทศไทยจะส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 48 คนกลับไปยังประเทศจีน ซึ่งทำให้เกิดเสียงต่อต้านจากในต่างประเทศรวมไปถึงจากนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งจะรับตำแหน่ง ซึ่งออกมาประกาศว่าจะใช้การทูตกดดันไทยในเรื่องนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าจากกรณีนี้นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ ด้านการป้องกันการซ้อมทรมาน ซึ่งไม่ขอระบุชื่อ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า จากกรณีนี้ยืนยันว่าทางรัฐบาลไม่สามารถตัดสินใจส่งตัวกลับได้ เพราะจะขัดกับเนื้อหาของมาตรา 13 ของ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมาตรานี้ระบุชัดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการส่งตัวบุคคลกลับไปในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนถ้าจะเกิดอันตรายกับบุคคลผู้นั้น
โดยมีบทบัญญัติว่า
”ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย“
นักกฎหมายรายเดียวกันกล่าวว่า หากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการเปิดหน้าที่โดยมิชอบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง3 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า ชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คนยังคงอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะผู้ต้องขัง หรือผู้ต้องหา หรือผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้งหมดกลับประเทศจีน
และเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ได้ทำหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อคัดค้านการที่ไทยจะส่ง 48 ชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน โดยเนื้อหาหนังสือตอนหนึ่งระบุว่าการส่งบุคคลไปยังดินแดนที่มีเหตุควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายต่อชีวิต เป็นการ กระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ห้ามผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement) รวมถึง การถูกคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิด ด้านการเมือง การส่งกลับดังกล่าวยังขัดต่อทั้งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม