‘สศช.-สำนักงบประมาณ’ แนะ ‘ธปท.-กนง.’ ควบคุม ‘อัตราเงินเฟ้อ’ ปี 68 ให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ชี้หากหลุดกรอบ อาจกระทบความเชื่อมั่น ‘การบริโภค-การลงทุน’
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาวาระดังกล่าว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยระบุว่า สศช. เห็นว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารกลางถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะดำรงเสถียรภาพด้านราคาและเศรษฐกิจ ดังนั้น ธปท.จะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสื่อสารต่อสาธารณชนถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังกล่าว เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะดำรงเสถียรภาพด้านราคาและเศรษฐกิจต่อไป
ขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า การจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินเป็นการดำเนินการตามนัยมาตรา 28/8 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการใดๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคาควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน และเอื้อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงเห็นสมควรที่ ครม. จะพิจารณาอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2568 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) และ รมว.คลัง ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568 ที่อัตราเงินเพื่อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวอยู่นอกกรอบเป้าหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นสำหรับการบริโภคและการลงทุน เห็นควรให้ กนง. เร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินการต่อ ครม. รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณชนถึงแนวทางในการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
ทั้งนี้ ครม.ได้พิจารณาแล้ว และให้ ธปท. และ กนง. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ และ สศช. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับ รมว.คลัง เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568
ต่อมา ธปท. ได้มีหนังสือ ที่ ธปท. 2696/2567 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2567 ถึง รมว.คลัง เพื่อขอให้พิจารณาลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และ รมว.คลัง ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568 ที่ร้อยละ 1-3 มีความเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และมีความสอดประสานกับแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะทางเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ
รมว.คลัง และ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2568 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการดูแลเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในช่วงดังกล่าวอย่างเหมาะสม และไม่อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับกึ่งกลางของช่วงดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การมีเสถียรภาพด้านราคา จะช่วยเอื้อให้ภาคเอกชนวางแผนการบริโภคและการลงทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และระบบการเงินมีเสถียรภาพในระยะยาว
กรอบเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ร้อยละ 1-3 มีความเหมาะสม เนื่องจาก
(1) เป้าหมายดังกล่าวเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ และที่ผ่านมาสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงที่อัตราเงินเพื่ออยู่ในระดับสูง
(2) ช่วงร้อยละ 1-3 มีความยึดหยุ่นเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ทำให้เงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยนอกประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งการมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยึดหยุ่น ช่วยรองรับความผันผวนจากปัจจัยอุปทานที่จะมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า และ
(3) การคงเป้าหมายเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน และช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
2.การบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะปานกลาง
กระทรวงการคลังและ ธปท. จะหารือร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินมีความสอดประสาน โดยการดำเนินนโยบายการเงินมุ่งที่จะดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงิน โดยใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม และการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อีกทั้งสนับสนุนมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนและตรงจุด เพื่อดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อเพื่อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ
ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยึดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) การดำเนินนโยบายการเงินจะพิจารณาดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ควบคู่กับดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมความเสี่ยงต่อระบบการเงิน
โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและตรงจุด ทำให้นโยบายการเงินไม่ต้องตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อมากเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในช่วงที่เงินเฟ้อสูงหรือต่ำจากปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ กนง. เห็นพ้องกันว่า ไม่ต้องการเห็นภาวะเงินฝืดหรืออัตราเงินเฟ้อที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง จากราคาสินค้าและบริการที่ลดลงในวงกว้าง โดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
3.ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน
กระทรวงการคลังและ ธปท. จะหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่น ตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2567 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ขยายตัว 0.32% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ขยายตัว 0.55% โดยในปี 2567 สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.3-1.3% (ค่ากลาง 0.8%) ขณะที่ ธปท. ประเมินว่าในปี 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1%