‘คมนาคม’ เตรียมเสนอ ครม. พิจารณา ‘ไฮสปีดเทรนไทยจีนระยะที่ 2 ช่วงโคราช-หนองคาย’ วงเงิน 328,186 ล้านบาท ลุ้นบอร์ดสภาพัฒน์ให้ผ่านเพื่อไปต่อ ครม. หลังปีใหม่ วางไทม์ไลน์แล้วเสร็จปี 71
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 ธันวาคม 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357 กม. มูลค่าโครงการ 328,186.52 ล้านบาท
สถานะปัจจุบันของโครงการ กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาดำเนินการศึกษารูปแบบการลงทุนแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562)
โดยได้รับการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 อยู่ระหว่างรอเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงบประมาณ, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และกระทรวงคมนาคม เพื่อรับความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. โดยหลังปีใหม่ จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สภาพัฒน์ขึ้น ซึ่งทาง รฟท.และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เตรียมประเด็นที่จะไปตอบทางสภาพัฒน์ไว้แล้ว คาดว่าจะสามารถบรรจุในวาระพิจารณา ครม.ได้ภายในปี 2568 นี้ โดยวางแผนที่จะเปิดให้บริการให้ได้ในปี 2571
@พลิกรายละเอียดโครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย มีระยะทาง 357 กม. ตัวโครงสร้างแบ่งเป็นยกระดับ 202 กม. และวิ่งระดับดิน 154 กม. ระบบรถไฟเป็นระบบรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการเฉพาะการขนส่งผู้โดยสาร โดยมีการเดินรถร่วมกับรถสินค้าจากประเทศจีนและลาว เฉพาะช่วงสะพานข้ามแม่น้ำโขง – นาทา โดยความเร็วสูงสุดที่ใช้ในการออกแบบ คือ 250 กม./ชม. เพื่อให้สอดคล้องโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร –นครราชสีมา มีความยาวของขบวนรถ 200 เมตร สามารถจุผู้โดยสารสูงสุดได้ที่ 600 คนต่อขบวน
สถานีรถไฟมี 5 แห่ง ได้แก่ บัวใหญ่, บ้านไผ่, ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่เชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี และนาทา จ.หนองคาย ส่วนรายละเอียดงานระบบรถไฟฟ้าจะเป็นระบบรถไฟฟ้าเหนือหัวขบวนรถ (Overhead Catenary System) โดยจะมีสถานีจ่ายไฟฟ้าขับเคลื่อน (Traction Power Substation) ทุกๆ 50 กม. จำนวน 6 แห่ง ตามแนวเส้นทาง และอีก 1 แห่งที่ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา นอกจากนี้ยังมีสถานีจุดแบ่งตอนระบบไฟฟ้า (Section Post) ทุกๆ 50 กม. จำนวน 7 แห่งตามแนวเส้นทาง
ส่วนแผนการเดินรถคาดว่า จะใช้ขบวนรถที่มีความยาว 200 เมตร จุผู้คนได้ 890 คน/ขบวน มีอัตราความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. แต่จะใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 192 กม./ชม. หากเดินทางจากรุงเทพฯ - หนองคาย จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชม. 28 นาที แต่ถ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา จะใช้เวลาประมาณ 1 ชม. 26 นาที
แนวเส้นทางของโครงกา่ร
อ่านประกอบ
‘ไฮสปีดไทยจีน กทม.-โคราช’ สร้าง 7 ปี คืบแค่ 38% เปิดสารพัดปัญหา ก่อนลุ้นปี 71 ได้ใช้