ทางด่วน-มอเตอร์เวย์สายเก่ายังไม่ขึ้นราคา เว้น ‘โทลล์เวย์’ ปรับขึ้นพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 67) ผู้บริหารแจงเป็นไปตามสัญญาโครงการ ‘ทางหลวง-การทางพิเศษฯ’ เล็งเปิดโครงการใหม่เก็บตังค์ทันทีปีหน้า ‘มอเตอร์เวย์บางใหญ่-ทางด่วนพระราม 3’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2567 บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 67) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. จะมีการปรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ ซึ่งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 จะเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 2567 - 21 ธ.ค.2572
โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง-ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท ขณะที่การปรับค่าผ่านทางครั้งล่าสุด เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือในวันที่ 21 ธันวาคม 2562 และตามสัญญา จะมีการปรับราคาอีกครั้งในปี 2572-2577 ซึ่งทำให้ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ราคา 100 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ราคา 45 บาท รวม 145 บาท
ขณะที่นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า คาดว่าหลังปรับค่าผ่านทาง อาจจะมีผลต่อปริมาณจราจรที่จะปรับลดลงบ้างในช่วงแรกประมาณ 4-5% จากนั้นจะปรับตัวได้ ซึ่งในการปรับค่าผ่านทางมีผลทำให้รายได้ของบริษัทฯเพิ่มขึ้น และเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ทางบริษัทฯ ได้จัดโปรฯ ส่วนลดเป็นพิเศษสูงสุด 10% ให้ผู้ใช้ทางสามารถซื้อคูปองใช้ลดค่าผ่านทางได้ เพิ่มความคุ้มค่าในการเดินทาง ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.-21 ธ.ค. 2567 จากปกติที่มีการจำหน่ายคูปองซึ่งจะได้ส่วนลด 5% อยู่แล้วสำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางเป็นประจำ
โดยปริมาณจราจรบนดอนเมืองโทลล์เวย์ปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 115,000 คัน/วัน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ประมาณ 25% โดยก่อนโควิดมีปริมาณจราจรเฉลี่ยที่ 147,000 คัน/วัน และคาดว่าอีก 2 ปี ปริมาณจราจรจึงจะกลับไปเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด โดย คาดว่าปริมาณจราจรในปี 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 120,000 คัน/วัน เติบโตจากปี 2567 ประมาณ 5% และคาดรายได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงการท่องเที่ยว และปริมาณการเดินทางที่สนามบินดอนเมืองยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจากที่ติดตามปริมาณรถจากสนามบินเข้าสู่โครงการฯ ช่วงก่อนโควิด มีประมาณ 15,000 คัน/วัน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8,000 คัน/วัน ประกอบกับ โครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนที่รถติดบนถนนวิภาวดีรังสิตจะ เลือกใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์ ต้นทาง-ปลายทาง ที่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที นอกจากนี้ยังมีรถไฟที่เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางด้วย
ขณะที่ มีสัดส่วนการชำระค่าผ่านทาง ด้วยบัตร Easy-Pass/ M-Pass ชำระค่าผ่านทางประมาณ 45% และใช้เงินสด ประมาณ 50% ที่เหลือใช้ คูปอง บัตร EMV และ QR Coad
@มอเตอร์เวย์บางใหญ่ เก็บตังค์ปี 68
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของมอเตอร์เวย์ที่กำกับดูแล นอกจากการขึ้นราคาดอนเมืองโทลล์เวย์แล้ว ในสายทางเดิมยังไม่มีสายไหนขึ้นค่าผ่านทางอีก แต่ในปี 2568 กรมฯเตรียมเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์บางใหญ่ - กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ทั้งสายทาง เมื่อเปิดบริการแล้ว จะมีการเก็บค่าผ่านทางทันที
สำหรับอัตราค่าผ่านทางอ้างอิงตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี 2563 กำหนดอัตราค่าผ่านทาง ดังนี้
รถยนต์ 4 ล้อ ค่าผ่านทางสูงสุดตลอดเส้นทาง 150 บาท ประกอบด้วย ค่าแรกเข้า 10 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 1.5 บาทต่อกิโลเมตร
รถยนต์ 6 ล้อ ค่าผ่านทางสูงสุดตลอดเส้นทาง 240 บาท ประกอบด้วย ค่าแรกเข้า 16 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2.4 บาทต่อกิโลเมตร
รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ ค่าผ่านทางสูงสุดตลอดเส้นทาง 350 บาทประกอบด้วย ค่าแรกเข้า 23 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 3.45 บาทต่อกิโลเมตร (รายละเอียดเพิ่มเติมดูด้านล่าง)
ทั้งนี้ความคืบหน้าของโครงการ สถานะ ณ เดือน พ.ย. 2567 งานโยธาคืบหน้าไปแล้ว 99.595% ช้ากว่าแผน 0.405% คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2568 ส่วนงานดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) ซึ่ง ทล.ได้มีการลงนามสัญญาจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ณ เดือน พ.ย. 2567 มีความคืบหน้ารวม 66.89% เกินกว่าแผนไป 3.59%
@การทางฯเร่งประมูลงานระบบ ด่วนพระราม 3 จ่อเก็บตังค์ปลายปี 68
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของทางด่วน สายทางเดิมที่มีคาดว่าจะยังไม่มีการปรับค่าผ่านทางเพิ่ม แต่ กทพ.มีแผนที่จะเปิดให้บริการโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ะยะทาง 18.7 กม. ใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ก่อสร้างวงเงิน 30,437 ล้านบาท โดยสถานะในเดือน พ.ย. 2567 มีความก้าวหน้าภาพรวมโครงการ 85.05% เร็วกว่าแผน 2.21% คาดการก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการตลอดสายเดือน ก.ย. 2568
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิด “สะพานทศมราชัน” ณ สะพานทศมราชัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 67 ตอนนี้อยู่ระหว่างการเก็บงานเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนใช้งานสะพานทศมราชันได้ในเดือน ม.ค. 2568
ทั้งนี้ เนื้องานของโครงการ ยังเหลือการเปิดประมูลสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างรอเปิดประมูลในเดือน ม.ค. 2568 นี้ คาดว่าจะใช้เวลาเกือบทั้งปีในการดำเนินโครงการ โดยทางกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเปิดให้บริการและเก็บค่าโดยสารทางด่วนพระราม 3 ช่วงปลายปี 2568
สำหรับอัตราค่าผ่านทาง แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก-ดาวคะนอง และดาวคะนอง-พระราม 3 รถยนต์ขนาด 4 ล้อ ค่าบริการ 30 บาท รถยนต์ขนาด 6-10 ล้อ ค่าบริการ 60 บาท รถยนต์มากกว่า 10 ล้อค่าบริการ 90 บาท ซึ่งจะมีการปรับค่าบริการ 5 บาท ทุกๆ 5 ปี