สปสช.เตรียมหารือสมาคมแพทย์ ถกลดปริมาณจ่ายยาบางชนิดจาก 6 เดือน เป็น 1 ด. ป้องกันตระเวนเบิกยาไปขาย หวั่นรับกินยาวเปิดช่องทุจริต พร้อมทำระบบเสียบบัตร ปชช. ลิงก์ข้อมูล คาดเสร็จสัปดาห์หน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงมาตรการในการจัดการปัญหาเคสตระเวนรักษาและนำยาพ่นจมูกไปขายในสังคมออนไลน์ ว่า ขณะนี้รู้ตัวบุคคลแล้ว อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายในการรวบรวม เพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้ พฤติกรรมเบื้องต้นพบตระเวนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเบิกยา บางครั้งไปช่วงเวลาฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์ต้องรีบให้บริการ การตรวจดูข้อมูลอาจไม่เข้มข้นมากนัก ซึ่งตระเวนไปหลายโรงพยาบาล ไม่ใช่โรงพยาบาลเดียว และขอยาตัวเดียวเป็นหลัก
ทั้งนี้ สปสช.จะมีมาตรการในการส่งสัญญาณเตือน เมื่อโรงพยาบาลใช้บัตรประชาชนคนไข้เสียบเข้าไป และเห็นข้อมูลว่า มีคนใดเข้ารับบริการในรอบปีที่ผ่านมา เบิกยาบางตัวเกินกว่าความจำเป็น เราก็จะส่งสัญญาณขึ้นระหว่างเสียบบัตรประชาชนด้วย ซึ่งกำลังทำอยู่ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ข้อมูลยังไม่ได้ลิงค์กันทั่วประเทศ แต่ขณะนี้ลิงค์กัน 46 จังหวัด แต่เท่าที่ตรวจสอบเคสนี้ไปยังจังหวัดที่ยังไม่เชื่อมข้อมูล และแม้จะเชื่อมข้อมูลแล้ว แต่แพทย์บางครั้งก็ไม่ได้กดทุกครั้ง ณ หน้างาน ว่า คนนี้ได้ยาเท่าไหร่ ซึ่งทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้นโยบายแล้วว่าต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจกับแพทย์เรื่องนี้ด้วย แต่ทางสปสช.จะมีสัญญาณเตือนในเชิงรุกเข้าไปด้วย ไม่ต้องรอแพทย์มากดดูข้อมูลเท่านั้น ซึ่งหลายๆหน่วยต้องมาช่วยกันดู
“แม้การเกิดกรณีแบบนี้จะไม่ได้เยอะ แต่ก็จะทำให้ระบบเราถูกมองว่ามีปัญหาได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีแบบนี้ เราได้ฟ้องศาลฐานฉ้อโกง และติดคุกไปแล้ว มี 2 เคส ซึ่งยาก็คล้ายๆ กัน เป็นโรคที่กึ่งๆภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการลิสต์ยาพวกนี้ว่าจะออกมาตรการอย่างไร” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จกล่าวถึงมาตรการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่า ต้องมี ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ตั้งต้นมาจากทางโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข แจ้งเรื่องมาและให้ทางสปสช.ตรวจสอบด้วย ดังนั้น รพ.บางแห่งก็เห็นความผิดปกติจึงมีการร่วมมือกัน เราก็ต้องมาจัดระบบร่วมกันในการป้องกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ดี
“ประชาชนบางส่วนอาจมองว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้จะกระทบกองทุนหลักประกันสุขภาพหรือไม่ ต้องเรียนว่า ไม่ได้กระทบกองทุน แต่ก็ไม่ควรเกิดขึ้น จึงต้องมีมาตรการใดๆต่อไป” นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวถึงกรณีมีข้อเสนอว่า จะลดปริมาณการจ่ายยาแทนจาก 6 เดือนเหลือ 1 เดือน ว่า จากการพูดคุยกับแพทย์หลายๆที่ กำลังหาจุดเวลาที่เหมาะสม บางครั้งกำหนดเวลาสั้นไป ทางแพทย์ก็อาจอึดอัด ยาวไปก็อาจมีปัญหา จะเอื้อต่อการไม่สุจริต เรื่องนี้ต้องหารือร่วมกับทางสมาคม หรือทางแพทย์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ต้องมาพูดคุย
ส่วนกรณีเคสดังกล่าวเดินทางไปกับลูกเพื่อตระเวนรับยา นพ.จเด็จ กล่าวว่า ยังไม่ได้เห็นว่าไปกับลูกหรือไม่ แต่เห็น 2 ชื่อที่เป็นนามสกุลเดียวกัน กำลังตรวจสอบว่าไปพร้อมกันหรือไม่ หรือพฤติกรรมเป็นอย่างไร ซึ่งมีพื้นที่ตั้งแต่อีสาน จนถึงกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเดียวกัน
“ส่วนใหญ่กลุ่มนี้มักจะตระเวนรับยาที่เกี่ยวข้องกับยาฉุกเฉิน เพราะถ้าไม่ฉุกเฉินแพทย์จะไม่ค่อยจ่ายยาให้ อย่างยาพ่นจมูก สำหรับภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นการพ่นบรรเทาอาการและป้องกัน ซึ่งราคาก็สูง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมแบบนี้หากใครจะทำ อย่าทำ เพราะระบบปัจจุบันตรวจจับได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้เข้มข้น แต่ตอนนี้จะเข้มข้นขึ้น พฤติกรรมนี้เป็นคดีอาญา และเมื่อพบเราก็จะแจ้งจับแน่นอน และการเอายาไปขาย ถือเป็นการเอาเปรียบ มีคนไข้จำเป็นต้องได้รับยาอีกเยอะ” นพ.จเด็จ กล่าว