สธ.เผยแม่พาลูกสาวตระเวนรับยาพ่นจมูกสิทธิบัตรทอง ขายออนไลน์ ไม่ใช่เคสแรก แจ้งความลงบันทึกประจำวัน แล้ว ด้าน สปสช.เสนอปรับลดเวลาจ่ายยาจาก 3 เดือนลดเหลือ 1 สัปดาห์หรือภายในหนึ่งเดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีมีคุณแม่นำยาพ่นเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้และคัดจมูก ซึ่งได้รับการพาลูกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและนำมาขายทางออนไลน์ โดยระบุถึงการใช้ สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ ว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้วโดยเป็นเรื่อง ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช.ต้องไปตรวจสอบ ก่อนหน้านี้ทาง สปสช.ได้ลงโทษและดำเนินคดีไปแล้วหลายรายในกรณีที่คล้ายกัน หลังจากนี้จะต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวดและไม่มีข้อผิดพลาด ส่วนกรณีนี้กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมด คงไม่มีปัญหาอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถป้องกันได้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจำนวนมาก ใน 1 ปี มีผู้ป่วยมาโรงพยาบาล 304 ล้านคน/ครั้งต่อปี มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยทั้งประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข กำลังทำนโยบายลดการป่วยให้น้อยลง บุคลากรในส่วนของสปสช.ที่ทำอยู่งานก็หนัก แต่เมื่อลดผู้ป่วยน้อยลง การใช้จ่ายก็น้อยลง ก็จะมีเวลาตรวจสอบได้ถี่ถ้วนมากขึ้น ไม่ใช่ไม่ได้ดูรายละเอียด แต่มีคนไข้มาก จึงมีหน้าที่ลดคนป่วยโดยการป้องกันก็ทำมา 2 เดือนแล้วในปีงบประมาณ 2568
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สปสช. ตรวจสอบข้อมูลพบความผิดปกติของการเข้ารับบริการรักษาของผู้ป่วยรายนี้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่มักจะเข้ารับบริการจากคลินิกนอกเวลา ของรพ.จำนวน 3 ครั้ง ในห้วงเวลาที่ติดกัน และเบิกจ่ายยา ชนิดเดียวกันไปทั้งสามครั้งคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 38,000 บาท ซึ่งในกระบวนการถือเป็นความผิดทางกฎหมายได้กำชับให้ สปสช.ดำเนินการแล้ว
อย่างไรก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ได้ทราบปัญหาในระบบสาธารณสุข จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการหารือและแก้ไขปัญหาในการออกแนวทางต่างๆร่วมกัน เช่น ปัญหาแรงงานข้ามชาติในการเข้ามารักษาในไทย ซึ่งจะมีการประชุมแนวทางในสัปดาห์หน้า
“เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นทาง สปสช. จึงได้เสนอให้พิจารณากรณีการจ่ายยาให้ผู้ป่วย ให้แพทย์ ปรับลดระยะเวลาการจ่ายยาลง เช่น จากจ่ายยาผู้ป่วยในระยะเวลา 3 เดือนปรับลดเหลือ 1 สัปดาห์หรือภายในหนึ่งเดือน และในกรณียาบางชนิดที่มีบรรจุภัณฑ์หีบห่อบรรจุกล่องจำเป็นต้องแกะหีบห่อออกก่อนเพื่อป้องกันการนำไปขายต่อ” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นหลักประกันและสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน หากเจ็บป่วยไม่ว่าเล็กน้อย หรือป่วยหนัก สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องมีอุปสรรคทางการเงิน งบประมาณกองทุนทุกบาททุกสตางค์ล้วนมาจากภาษีประชาชน การใช้จ่ายงบประมาณจึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด
การนำยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลไปจำหน่ายในเว็บไซต์และกลุ่ม Social Media ตามที่ปรากฎเป็นข่าว หากเป็นเรื่องจริง ถือเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะนอกจากจะเป็นการเอาเปรียบผู้ป่วยท่านอื่นแล้ว ยังเป็นเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น อีกทั้งเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ไม่สมควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นนี้ สปสช. จะประสานหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและเร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายยาพ่นเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่เป็นข่าว หากพบว่ามีการมารับยาและนำไปจำหน่ายจริง สปสช. จะดำเนินการทางกฎหมายจนถึงที่สุด
ทพ.อรรถพร กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบเป็นการไปรับยาในความถี่ที่แปลกๆ ผิดปกติจริง จึงได้มอบหมายให้สปสช.เขตที่เกี่ยวข้อง ไปตรวจสอบในรายละเอียดว่าเป็นการไปรับยาที่หน่วยบริการหน่วยเดียวหรือไปรับยาในหลายๆหน่วยบริการ และให้ สปสช.เขตไปลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน
ทพ.อรรถพร กล่าวด้วยว่า ตามหลักกฎหมาย ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้เสียหาย เบื้องต้นสปสช.ลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพราะในภาพใหญ่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับความเสียหาย เนื่องจากเงินทั้งหมดเป็นงบประมาณแผ่นดิน เงินทั้งหมดมีไว้เพื่อจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน เมื่อประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทป่วยก็จะได้รับบริการ โดยใช้งบประมาจากกองทุนฯจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชน
ดังนั้น หากมีการรับยาถี่เกินไป ซึ่งดูจากพฤติกรรมแล้วมักจะไปในคลินิกหรือห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ที่มีความเร่งด่วน และเห็นใจแพทย์พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินที่จะต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งมาดูผู้ป่วย และบังเอิญช่วงนั้นมีคนไข้ที่ฉุกเฉินกว่าเข้าไป ยิ่งทำให้การตรวจสอบน้อย กรณีเช่นนี้ก็ว่าตามกฎหมาย
“ส่วนจะสามารถเอาผิดไปถึงคนที่มีพฤติการณ์แบบนี้หรือไม่ เบื้องต้นหลักการใหญ่ๆเอาผิดแน่ๆ ส่วนจะไปถึงตรงไหนก็จะต้องเป็นเรื่องตามกฎหมาย ซึ่งการเจอการกระทำความผิดเช่นนี้ตรวจสอบเจอเมื่อ 10 ปีก่อนโดยนำข้อมูลมาดูว่ามีการใช้บริการที่ผิดปกติ มี 1 ราย หลังจากนั้นก็ไม่เจออีก จนมาปรากฏกรณีนี้” ทพ.อรรถพรกล่าว
สำหรับระบบป้องกัน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการเบิกจ่ายจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งสปสช.ได้มีการโอนงบประมาณไปให้หน่วยบริการแล้ว เมื่อโอนขาดไปแล้วในส่วนของสปสช.จึงมีการมอนิเตอร์ในภาพใหญ่เรื่องของการรับบริการในภาพใหญ่เป็นอย่างไร มีการไปรับซ้ำ หรือในความถี่ที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าเจอมีการรับบริการในความถี่ผิดปกติจึงลงไปดูในรายละเอียดว่าไปรับซ้ำ รับถี่เกินไปหรือไม่ เป็นการมอร์นิเตอร์ในภาพกว้าง
ทพ.อรรถพร กล่าวย้ำว่า ขอเตือนไปยังผู้ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าวหรือผู้ที่จะทำตามแบบอย่าง เพราะนอกจากจะถูกดำเนินการทางกฎหมายแล้ว ยังเป็นผู้ที่บ่อนทำลายต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคนด้วย ทั้งนี้หากพบข้อมูลใดๆ ขอให้แจ้งมาที่ สปสช. เพื่อที่จะเร่งดำเนินการต่อไป