เปิดข้อเสนอแนะ ‘กสม.’ ชงยกเลิกโทษ ‘ประหารชีวิต’ ขณะที่ ‘ครม.’ มอบ ‘ก.ยุติธรรม’ รับเรื่องไปพิจารณา ก่อนนำกลับมาเสนออีกครั้ง
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการพิจารณาเสนอต่อ ครม.ต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ของ กสม. ประกอบด้วย
การดำเนินการระยะสั้น
1.ต้องไม่กำหนดโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่
2.ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียวในกฎหมายฉบับต่างๆ รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ.2565 เพื่อให้ศาลสามารถใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิต เพื่อกำหนดโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิดและพฤติการณ์ส่วนตัวของผู้กระทำความผิดแต่ละราย
โดยอาจนำข้อเสนอการใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษประหารชีวิตขององค์กรปฏิรูปการลงโทษสากลมาพิจารณาเพื่อกำหนดทางเลือกในการลงโทษ และจะต้องมีกลไกที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยให้แก่สังคมด้วย โดยควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาของแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับและคำมั่นโดยสมัครโจภายใต้กลไกการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิทธิมนุษชนของประเทศเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodic Review: UPR) รอบที่ 3
3.ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตในความผิดที่ไม่เข้าข่ายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด เช่น คดียาเสพติด และคดีทุจริต เป็นต้น รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ.2565 เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในความผิดที่ไม่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดภายในปี 2570 ตามกรอบระยะเวลาในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2566-2570)
4.ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจและผลกระทบเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบระยะเวลาของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคน
การดำเนินการระยะยาว
1.ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตที่เหลือทั้งหมด
2.ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการสนับสนุนข้อมติการพักใช้โทษประหารชีวิต และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการที่แน่นอนด้วย
กสม.ระบุด้วยว่า จากการที่ กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารทางวิชาการ และความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีความเห็น ดังนี้
1.โทษประหารชีวิต ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวมาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และไม่สามารถแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อาจมีความผิดพลาดได้ อีกทั้งการที่ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายอาญาทหารกำหนดวิธีการประหารชีวิตไว้แตกต่างกัน อาจเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานะของบุคคล ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27
และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (international Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 26 เพราะแม้สถานะอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกัน แต่ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะนำวิธีประหารชีวิตมาใช้ให้แตกต่างกัน
2.การประหารชีวิตไม่ว่าด้วยวิธีใด ย่อมเป็นการพรากชีวิตของบุคคล ซึ่งสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดซึ่งไม่อาจพรากไปได้ และยังเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 และข้อ 5 และ ICCPR ข้อ 6 และข้อ 7 รวมทั้งอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 28
3.ไม่ควรกำหนดโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ ควรทบทวนและแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตที่เหลือทั้งหมด และควรสนับสนุนข้อมติการพักใช้โทษประหารชีวิต และเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของ ICCPR โดยต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แน่นอน
4.ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว เพื่อให้ศาลเลือกใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิตให้เหมาะสมกับการกระทำความผิดแต่ละกรณีและผู้กระทำความผิดแต่ละราย โดยอาจพิจารณากำหนดกลไกทีเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสังคมไปพร้อมกันด้วย
5.โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีแผนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตในความผิดที่ไม่เข้าข่ายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดอย่างชัดเจน จึงควรทบทวนกฎหมายทั้งหมดที่มีโทษประหารชีวิตในความผิดที่มีลักษณะดังกล่าวและยกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อให้เป็นไปตาม ICCPR ข้อ 6 วรรค 2 ซึ่งจะต้องตีความ “อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด” อย่างเคร่งครัดและเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าโดยเจตนาเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า จากกรณีที่ กสม. นำเสนอให้ ครม. พิจารณาข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต เนื่องจาก กสม.เห็นว่า โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูงและหลายประเทศงดเว้นไปแล้ว จึงอยากให้ยกเลิก ซึ่ง ครม.มีมติรับทราบในเรื่องนี้ และมีความเห็นว่าเพิ่มเติมจากศาลยุติธรรมว่า โทษบางชนิดและความผิดบางชนิดยังจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่
“ครม.ก็รับทราบ แต่ในท้ายที่สุด ในกรณีโทษประหารชีวิตนั้น ทำไมจึงต้องมีอยู่ ก็ต้องคิดถึงคนที่กระทำความผิดที่เป็นความผิดร้ายแรง ศาลยุติธรรมบอกว่าต้องมีอยู่ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน เวลาเห็นคนที่กระทำผิดมากๆ” นายคารมกล่าว