‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษากลับ สั่ง ‘บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ’ ชดใช้ค่าเสียหาย ‘บมจ.ทีทีแอนด์ที’ กว่า 2 พันล้าน พร้อมดอกเบี้ย ตามคำชี้ขาด ‘อนุญาโตตุลาการ’ ปมผิดสัญญาร่วมทุนฯโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย ในภูมิภาค
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.383-384/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1202-1203/2567 ระหว่าง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT (เดิม บมจ.ทีโอที) ผู้ร้อง กับ บมจ.ทีทีแอนด์ที โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ ผู้คัดค้าน ในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย ในเขตโทรศัพท์ภูมิภาค
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 116/2548 หมายเลขแดงที่ 74/2552 ลงวันที่ 1 ก.ย.2552 ที่ให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ชำระค่าเสียหาย 2,033.56 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ บมจ.ทีทีแอนด์ที่ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ เนื่องจากทำผิดสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย
“พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 116/2548 หมายเลขแดงที่ 74/2552 ลงวันที่ 1 ก.ย.2552 ที่ให้ผู้ร้อง ชำระค่าเสียหายรวมเป็นจำนวน 2,033,563,158.19 บาท (1,842,786,166.19 + 190,776,992) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 ก.ย.2548 ถึงวันที่ 27 มี.ค.2551 ซึ่งรวมแล้วต้องไม่เกิน 281,583,140.61 บาท (256,724,431.66 +24,858,708.95)
และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,033,563,158.19 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ 27 มี.ค.2551 จนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 และชำระดอกเบี้ยของต้นเงินของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำร้องของผู้ร้อง และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นศาลปกครองชั้นต้นให้ผู้ร้องและผู้คัดค้าน” คำพิพากษาระบุ
สำหรับคดีนี้ ผู้ร้อง (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ในขณะที่เป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ได้ทำสัญญากับผู้คัดค้าน (บมจ.ทีทีแอนด์ที โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า บริษัท ไทยเทเลโฟนแอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย ในเขตโทรศัพท์ภูมิภาค ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2535
และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2538 ได้ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมการงานฯ โดยให้ผู้คัดค้าน ดำเนินการขยายบริการโทรศัพท์ในเขตโทรศัพท์ภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนเลขหมาย ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวกำหนดให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ลงทุนจัดหา ติดตั้ง ควบคุม ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบให้แล้วเสร็จ และผู้ร้อง ตกลงให้ผู้คัดค้านมีสิทธิใช้ ครอบครอง และได้ผลประโยชน์จากอุปกรณ์ในระบบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้สัญญา
มีกำหนดเวลา 25 ปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 หรือวันที่ผู้ร้องได้รับมอบอุปกรณ์ในระบบงวดแรกจากผู้คัดค้าน แล้วแต่วันใดจะถึงกำหนดก่อน โดยผู้คัดค้านจะช่วยเหลือผู้ร้องในการจัดสร้างระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการและเงินอื่นๆ รวมทั้งส่งมอบ โอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือสิทธิ (การเช่า) ที่เกี่ยวกับระบบการจัดเก็บเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
และผู้ร้อง จะแบ่งรายได้ที่ได้รับจริงก่อนหักค่าใช้จ่ายแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งในส่วนค่าบริการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย ในอัตราร้อยละ 56.9 และในส่วนค่าบริการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมาย ในอัตราร้อยละ 55.5 และในกรณีที่ผู้คัดค้านมีกำไรส่วนเกินเกณฑ์ปกติ (Excess Proft) ให้ผู้คัดค้านแบ่งกำไรที่เป็นส่วนเกินหลังหักภาษีร้อยละ 16-20 ให้แก่ผู้ร้องในอัตราร้อยละ 30 และสำหรับกำไรส่วนที่เกินจากร้อยละ 20 ให้ผู้คัดค้านแบ่งให้ผู้ร้องในอัตราร้อยละ 60 ตลอดอายุสัญญานี้
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2546 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีนโยบายปรับลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานภายในประเทศ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีในขณะนั้น ที่ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอัตราที่ถูกกว่าค่าบริการโทรศัพท์ของผู้ร้องที่ดำเนินการร่วมกับผู้คัดค้าน ทำให้ประชาชนใช้บริการโทรศัพท์ของผู้ร้องลดลง และกระทบต่อรายได้ของผู้ร้อง
โดยผู้ร้อง ได้ประชุมหารือกับผู้คัดค้าน และบริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2546 มีการทำข้อตกลงร่วมกันในการทดสอบตลาดการใช้โทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ (ข้อตกลงทดสอบตลาด) โดยให้ใช้อัตราค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลเป็นการชั่วคราวเพื่อทดสอบด้านการตลาดและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลที่เหมาะสมต่อไป
และเริ่มใช้อัตราค่าบริการโทรศัพท์ตามข้อตกลงดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2546 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 เวลา 24.00 นาฬิกา ซึ่งคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย ตกลงยอมรับผลกระทบและจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการตามสัญญาร่วมการงานฯ และให้ถือว่าการใช้อัตราค่าบริการตามข้อตกลงทดสอบตลาดเป็นเพียงการทดสอบด้านการตลาดชั่วคราวเท่านั้น ไม่ถือว่ามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมการงานฯ ระหว่างคู่สัญญา
ต่อมา มีการตกลงแก้ไขเพิ่มเติมระยะเวลาในการทดสอบตลาดการใช้โทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศออกไปอีก 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 โดยให้ขยายระยะเวลาในการทดสอบตลาดจากกำหนดเวลาเดิม เป็นสิ้นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เวลา 24.00 นาฬิกา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2546 โดยให้ขยายระยะเวลาในการทดสอบตลาดจากเดิมออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 เวลา 24.00 นาฬิกา
แต่ก่อนสิ้นสุดกำหนดเวลาตามข้อตกลงทดสอบตลาดเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) มีหนังสือ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2547 แจ้งผู้คัดค้าน (บริษัท ไทยเทเลโฟนแอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด ต่อมา คือ บมจ.ทีทีแอนด์ที โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) ว่า ผู้ร้อง จะยังคงใช้อัตราค่าบริการทดสอบตลาดต่อไปอีกนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547
ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2547 แจ้งผู้ร้องว่า การปรับอัตราค่าบริการตามข้อตกลงทดสอบตลาด การใช้โทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศดังกล่าว จะทำให้ผู้คัดค้านได้รับผลกระทบที่รุนแรงและต่อเนื่อง ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถทำข้อตกลงร่วมทดสอบตลาดกับผู้ร้องอีกต่อไป และขอให้กลับมาใช้อัตราค่าบริการตามที่ได้กำหนดไว้ตามสัญญาร่วมการงานฯ เช่นเดิม และขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
และผู้ร้องมีหนังสือ ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 แจ้งผู้คัดค้านว่า หากไม่ประสงค์เข้าร่วมทดสอบตลาดดังกล่าว ก็สามารถกลับไปใช้อัตราค่าบริการตามสัญญาได้
ต่อมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีนโยบายให้ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศได้ทั่วโลก จากเดิมที่เคยดำเนินการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศเพียง 4 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สหพันธรัฐมาเลเซีย และประเทศกัมพูชา โดยตกลงให้ลดส่วนแบ่งรายได้จาก กสท. จากอัตรานาทีละ 6 บาท เป็นนาทีละ 3 บาท สำหรับระบบ IDD และนาทีละ 1.50 บาท สำหรับระบบ VOIP (eFONE) ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป
หลังจากนั้น ผู้ร้องมีหนังสือ ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 แจ้งผู้คัดค้านว่า จะขยายระยะเวลาในการทดสอบตลาดออกไปอีก ซึ่งผู้คัดค้านมีหนังสือ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ยืนยันการไม่เข้าร่วมขยายระยะเวลาการทดสอบตลาดการใช้โทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ
และแจ้งผู้ร้องว่า การดำเนินการของผู้ร้อง เป็นการปรับอัตราค่าบริการตามสัญญาร่วมการงานฯ และหากการปรับลดอัตราค่าบริการจะมีผลเสียต่อฐานะการเงินของผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายและสิทธิตามสัญญาร่วมการงานฯ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
ต่อมา ผู้คัดค้านมีหนังสือ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2448 แจ้งผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้อง ปรับอัตราค่าบริการ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันเป็นข้อยกเว้นตามสัญญาร่วมการงานฯ ข้อ 25 (ก) (5) ผู้คัดค้านจึงอาศัยสิทธิตามสัญญาร่วมการงานฯ ข้อ 25 (ข) ขอให้ผู้ร้องร่วมกับผู้คัดค้าน พิจารณาหาทางแก้ไขและบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้านอย่างเป็นธรรมและโดยเร็ว หากไม่อาจตกลงกันได้ภายใน 60 วัน ผู้คัดค้านมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
หลังจากนั้น ผู้ร้องและผู้คัดค้าน มีการประชุมเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ผลการประชุมสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายยังหาวิธีการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมและเป็นที่พอใจแก่ทั้งสองฝ่ายไม่ไม่ได้ แต่ทั้งสองฝ่ายยังจะหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป โดยผู้คัดค้านจะทำหนังสือเสนอแนวทางบรรเทาความเสียหายให้ผู้บริหารของผู้ร้องพิจารณา และจะยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 ผู้คัดค้านได้ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 116/2548
ต่อมา คณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท โดยความเห็นชอบของคู่พิพาททั้งสองฝ่ายเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ผู้คัดค้าน (ผู้เรียกร้องในข้อพิพาท) เสนอข้อพิพาทได้หรือไม่ และคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยและชี้ขาดข้อพิพาทได้หรือไม่ ประเด็นที่ 2 ผู้คัดค้านหรือผู้ร้องปรับอัตราค่าบริการตามสัญญาร่วมการงานฯ หรือไม่ ประเด็นที่ 3 ผู้คัดค้านหรือผู้ร้อง ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมการงานฯ และประเด็นที่ 4 ค่าเสียหายของแต่ละฝ่ายมีเพียงใด และฝ่ายใดจะต้องชำระให้แก่กันเท่าใด
โดยประเด็นที่ 1 คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ตามที่สัญญาร่วมการงานฯ ข้อ 25 (ข) กำหนดไว้ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายใน 60 วัน ให้เสนอเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด นั้น ระยะเวลา 60 วัน ดังกล่าว จะต้องนับตั้งแต่เมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายได้รับหนังสือแจ้งจากคู่สัญญาว่า มีเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นเกิดขึ้น และร้องขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณาถึงสถานการณ์เพื่อหาทางป้องกันหรือบรรเทาโดยเร็วอย่างเป็นธรรม
เนื่องจากข้อความของสัญญาร่วมการงานฯ ข้อ 25 มีเจตนารมณ์ให้มีการแก้ไขหรือบรรเทา เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นเกิดขึ้นโดยเร็วและเป็นธรรม เพราะเหตุดังกล่าวมีผลดีหรือผลเสียต่อฐานะทางการเงินของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ้ายหนึ่ง หรือมีผลต่อการดำเนินงานตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสาระสำคัญอย่างรุนแรง
หากตีความว่า การนับระยะเวลา 60 วัน ต้องนับตั้งแต่วันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือกันและมีข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ ก็อาจเปิดโอกาสให้คู่สัญญาฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นประวิงการหารือร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหรือประวิงการใช้สิทธิในการนำเสนอของคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ โดยอาจบ่ายเบี่ยงการหารือหรือพยายามไม่ให้การหารือมีข้อยุติ
เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านมีหนังสือ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2548 แจ้งผู้ร้องว่า มีเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นเกิดขึ้นและร้องขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณาถึงสถานการณ์ เพื่อหาทางป้องกันหรือแก้ไขหรือบรรเทาโดยเร็วอย่างเป็นธรรม แม้ต่อมาผู้คัดค้านกับผู้ร้องจะประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2548 แต่ยังหาวิธีการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสม และเป็นที่พึงพอใจแก่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้
ดังนั้น การที่ผู้คัดค้าน เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 จึงเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้เกิน 60 วัน แล้ว ถึงแม้ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายตกลงกันจะหารือเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป ก็ไม่ได้ตัดสิทธิของผู้คัดค้านที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แต่อย่างใด ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) จึงมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการ มีอำนาจวินิจฉัยและชี้ขาดข้อพิพาทนี้ได้
ส่วนประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากเห็นสมควรพิจารณาทั้งสองประเด็นดังกล่าวไปด้วยกัน ซึ่งแยกพิจารณาเป็น 3 ประเด็นย่อย คือ 1) ประเด็นเกี่ยวกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า อัตราค่าบริการตามเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 11 ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาร่วมการงานฯ การปรับอัตราค่าบริการก็คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาร่วมการงานฯ ไปในตัวด้วย และการปรับอัตราค่าบริการ จะต้องให้ผู้ใช้บริการทั้งโครงข่ายของผู้คัดค้านและโครงข่ายของผู้ร้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน
ส่วนข้อตกลงร่วมในการทดสอบตลาดการใช้โทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศที่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องและบริษัท ทรู คอร์ปอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันทำเพื่อทดสอบด้านการตลาด และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลที่เหมาะสม มีเจตนารมณ์ที่จะยกเว้นผลบังคับใช้สัญญาร่วมการงานฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการเป็นการชั่วคราว
การที่ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ขยายระยะเวลาการทดสอบตลาดไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด ถือเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของข้อตกลงร่วมในการทดสอบตลาด และยังมีผลเป็นการปรับอัตราค่าบริการตามที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมการงานฯ โดยปริยาย ผู้ร้อง จึงเป็นฝ่ายปรับอัตราค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลภายในประเทศ และเป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมการงานฯ
2) ประเด็นเกี่ยวกับอัตราค่าส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. คณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ข้อ 3.2 ของเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมการงานฯ หมายเลข 5 กำหนดให้นำส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. หรือองค์กรอื่นที่ดำเนินงานแบบเดียวกับ กสท. เป็นรายได้ที่นำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านด้วย
โดยย่อหน้าสุดท้ายของข้อตกลงดังกล่าวกำหนดว่า “ทศท. (ผู้ร้อง) จะตกลงกับบริษัท (ผู้คัดค้าน) ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งการเรียกค่าบริการต่างๆ หรือการเพิ่มหรือลดอัตราค่าบริการต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือวิธีการเรียกเก็บค่าบริการ หรือ ส่วนลดต่างๆ” ซึ่งหมายความว่า การตกลงปรับอัตราหรือเปลี่ยนโครงสร้างหรือวิธีการเรียกเก็บค่าบริการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อรายได้ที่นำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องจะต้องตกลงกับผู้คัดค้านก่อน
แต่กรณีการปรับค่าส่วนแบ่งรายได้การให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. ทั้งระบบบ IDD และระบบ eFONE จากเดิมที่ได้รับในอัตรานาทีละ 6 บาท เหลืออัตรานาทีละ 3 บาท สำหรับระบบ DD และเหลืออัตรานาทีละ 1.50 บาท สำหรับระบบ eFONE ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2547
ผู้ร้อง เจรจากับ กสท.โดยไม่ได้ตกลงหรือหารือกับผู้คัดค้านก่อน ทั้งที่ผู้ร้องทราบว่า การตกลงปรับลดอัตราค่าบริการดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อผู้คัดค้าน ในฐานะคู่สัญญาร่วมการงานฯ ด้วย
ส่วนที่ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) อ้างว่า ผู้คัดค้านได้ให้ความเห็นชอบแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 นั้น ผู้คัดค้านเพียงรับทราบตามที่ผู้ร้องแจ้งให้ทราบในที่ประชุม ยังไม่ถือว่าผู้คัดค้านได้ตกลงเห็นชอบด้วยแล้ว
ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) จึงเป็นฝ่ายปรับอัตราส่วนแบ่งรายได้การให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. โดยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ 3.2 ของเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 5 และเป็นฝ่ายผิดสัญญา
3) ประเด็นเกี่ยวกับการชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. สำหรับเดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2547 คณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวถือว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาในส่วนนี้
ประเด็นที่ 4 ค่าเสียหายของแต่ละฝ่ายมีเพียงใด และฝ่ายใดจะต้องชำระให้แก่กันเท่าใด คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านได้เสนอเอกสารแสดงวิธีการคำนวณและข้อมูลสถิติต่างๆที่จำเป็น พร้อมทั้งได้นำพยานเบิกความสนับสนับสนุนว่า ข้อมูลการใช้บริการของผู้ใช้บริการในโครงข่ายของผู้คัดค้าน เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงและถูกต้อง เนื่องจากทั้งระบบชุมสาย และระบบสนับสนุนข้อมูลผู้เช่า เป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการตรวจสอบและรับมอบจากผู้ร้องตามสัญญาร่วมการงานฯ เรียบร้อยแล้ว
โดยผู้คัดค้านได้จัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้น เพื่อคัดแยกข้อมูลจากระบบที่ได้ประมวลผลแสดงช่วงเวลา ระยะทาง และจำนวนนาทีในการใช้บริการ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณค่าเสียหาย
ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคม) จึงต้องชำระค่าเสียหายในส่วนนี้แก่ผู้คัดค้าน เป็นเงินจำนวน 1,842,786,166.19 บาท รวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 25551 ทั้งนี้ ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 256,724,431.66 บาท ตามที่ผู้คัดค้านขอ และให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของค่าเสียหายข้างต้นนับแต่วันถัดจากวันที่ 27 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป แก่ผู้คัดค้านจนกว่าจะชำระเสร็จ
ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. นั้น ให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 190,776,992 บาท รวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2548 ไปจนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2551 ทั้งนี้ ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 24,858,708.95 บาท และให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของค่าเสียหายข้างต้นแก่ผู้คัดค้าน นับแต่วันถัดจากวันที่ 27 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
นอกจากนี้ ผู้ร้อง จะต้องชำระค่าดำเนินการบริการรับแจ้งเหตุขัดข้องและซ่อมบำรุง ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายทำขึ้น
คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากจึงมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาท หมายเลขแดงที่ 74/2552 ลงวันที่ 1 กันยายน 2552 ให้ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคม) ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาร่วมการงานฯ และชำระดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,553,707,227.62 บาท
ส่วนคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้าน ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่ผู้ร้องชำระค่าส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศที่ได้รับจริงจาก กสท. สำหรับเดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนมิถุนายน 2547 ไม่ครบถ้วน รวมถึงค่าดำเนินการบริการรับแจ้งเหตุขัดข้องและซ่อมบำรุงจากตู้พักปลายทางถึงราวกันฟ้าที่คำนวณจากค่าส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องให้ยก
ผู้ร้อง (ทศท. ต่อมา คือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ไม่เห็นพ้องด้วย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 116/2548 หมายเลขแดงที่ 74/2552 ลงวันที่ 1 กันยายน 2552 ส่วนผู้คัดค้าน (บมจ.ทีทีแอนด์ที โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำขี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 116/2548 หมายเลขแดงที่ 74/2552 ลงวันที่ 1 กันยายน 2552 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้อง ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกคำร้องของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้าน (บมจ.ทีทีแอนด์ที โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) ไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีนี้