ป.ป.ช.สนธิกำลัง ตร.ภูธรภาค 4 จับ 2 แม่ลูก ผู้บริหาร-หุ้นส่วน บ.เอส พี มอเตอร์ คาโรงงาน จ.มหาสารคาม เผยพฤติการณ์ทั้งสองคน เข้าทำสัญญาซ่อมรถบรรทุกเทศบาล ต.ท่าขอนยาง 1.7ล.-สัญญาจัดซื้อรถบรรทุกน้ำ 1 คัน 1.99 ล.กับ อบต.กุดน้อยโดยมิชอบ เผยทั้งสองกรณีเกิดขึ้นช่วงปี 51-53 ก่อนศาลอนุมัติหมายจับ 1 ธ.ค.67
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการทำเอกสารข่าวแจกกรณีที่นักสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 3 และนักสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ลงพื้นที่ปฏิบัติการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ทำการจับกุมบุคคลตามหมายจับจำนวน 2 ราย ได้แก่
1. นางสิริกรหรือปราณี สุนทรสุขกิจหรือกิตติเสฐกุล บุคคลตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ จ.50/2566 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ซึ่งต้องหาว่าเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ประกอบมาตรา 86
2. นางสาววรินทร กิตติเสฐกุล บุคคลตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ที่ จ.20/2567 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่าเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
โดยนางสิริกรหรือปราณี สุนทรสุขกิจหรือกิตติเสฐกุล ในฐานะเจ้าของและผู้บริหารจัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.เอส.พี. มอเตอร์ สำนักงานตั้งอยู่ที่ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ประกอบกิจการอู่ซ่อมหรือดัดแปลงสภาพรถยนต์และรถบรรทุก โดยเมื่อปี พ.ศ. 2551 - 2552 ได้เข้าทำสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงเปลี่ยนสภาพรถบรรทุกน้ำเป็นรถดับเพลิงโดยวิธีพิเศษ จำนวน 1 คัน ราคา 1,700,000 บาท กับเทศบาลตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมิชอบ
การกระทำของนางสิริกรหรือปราณี สุนทรสุขกิจหรือกิตติเสฐกุล จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในเทศบาลตำบลท่าขอนยาง ในการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเกิดความเสียหายแก่เทศบาลตำบลท่าขอนยางและทางราชการ การกระทำของนางสิริกรจึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86
ส่วนนางสาววรินทร กิตติเสฐกุล ในฐานะหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.เอส.พี. มอเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้เข้าทำสัญญาจัดซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำอเนกประสงค์ จำนวน 1 คัน ในราคา 1,997,000 บาท กับองค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยมิชอบ การกระทำของนางสาววรินทร กิตติเสฐกุล จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้อย ในการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลกุดน้อยและทางราชการ
การกระทำของนางสาววรินทร กิตติเสฐกุล จึงมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนหาข่าวและเฝ้าสังเกตการณ์จนแน่ใจว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ราย ได้แก่ นางสิริกรฯ (มารดา) และนางสาววรินทรฯ (บุตรสาว) พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 92 หมู่ที่ 12 ตำบลกู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.เอส.พี. มอเตอร์ ปัจจุบันคือบริษัท ทรัพย์มงคลแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด แต่เนื่องจากภายในบริเวณบ้านหลังดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ มีลักษณะเป็นโรงงานและที่อยู่อาศัย และมีรั้วกั้นโดยรอบของพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการขอหมายค้น โดยศาลจังหวัดมหาสารคามได้อนุมัติหมายค้นเลขที่ ค.481/2567 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เพื่อเข้าทำการจับบุคคลหมายจับทั้ง 2 ราย
จนกระทั่งเวลาประมาณ 06.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ฯ ได้เข้าตรวจค้นภายในบริเวณบ้านหลังดังกล่าว พบบุคคลตามหมายจับทั้ง 2 รายดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงาน แสดงหมายจับและอ่านหมายจับให้ฟัง นางสิริกรฯ และนางสาววรินทรฯ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับบุคคลตามหมายจับที่เจ้าพนักงานแสดงให้ดูจริง และยังไม่เคยถูกจับตามหมายจับนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้ทราบ จากนั้นได้นำตัวไปยังกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำบันทึกจับกุม เก็บลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติผู้ถูกกล่าวหา/ผู้ถูกจับ รวมทั้งแจ้งการควบคุมตัวไปยังอัยการและฝ่ายปกครองและดำเนินการตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ.2565
จากนั้นได้ควบคุมตัวนางสาววรินทรฯ ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 (สุรินทร์) และควบคุมตัวนางสิริกรฯ ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 4 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 (ขอนแก่น) ต่อไป
อนึ่งการจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป ช. นายณัฐวุฒ ขมประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 3 และนายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 ได้มอบหมายนักสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 3