ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบข้อเสนอป้องกันทุจริตกระบวนการ EIA เผยต้นเหตุมาจากพบกรณีทำ EIA ไม่ผ่านประเมินกฎหมาย-สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ย้ำข้อเสนอใหม่เน้นให้ สผ.เดินหน้ากระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้เสนอ “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)” ต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
สืบเนื่องมาจาก ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561ได้กำหนดให้มีการจัดทำ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” สำหรับการดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งผู้ดำเนินการจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบเหล่านั้นอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการฯ
ซึ่งพบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ/กิจการ ที่ต้องจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ ซึ่งมีกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดำเนินโครงการฯ โดยไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด การอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งพบปัญหาในขั้นตอนการจัดทำรายงานฯ ทั้งในโครงการของรัฐและของเอกชน ซึ่งผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานฯ อาจมิได้จัดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง หรือมีการจัดทำข้อมูลในรายงานฯ อันเป็นเท็จ หรือไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสม
จากประเด็นปัญหาข้างต้น จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต รวมถึงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
1. ด้านการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุมัติ อนุญาต หรือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1.1 เห็นควรให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานการดำเนินงานร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจด้านการอนุมัติ/อนุญาต หรือการกำกับดูแลพื้นที่/สถานที่ต่าง ๆ และหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนา “ระบบศูนย์บริการข้อมูลด้านการอนุมัติ/อนุญาต และการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ” โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางระบบการประสานงาน และการตรวจสอบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน อาทิ การตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ข้อกำหนดตามกฎหมายสำหรับการดำเนินโครงการ/กิจการต่าง ๆ รวมถึงการกลั่นกรองโครงการ/กิจการ ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่และอำนาจอนุมัติ/อนุญาต ในการดำเนินโครงการ/กิจการ ที่ต้องจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ทั้งในด้านการปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีและฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับ “ศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Smart EIA Plus)” ของ สผ. การพัฒนาระบบให้บริการแบบ One Stop Service การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการเรียก-รับ หรือติดสินบนในขั้นตอนการขออนุมัติ/อนุญาต เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกรณีการอาศัยช่องว่างของกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น
2. ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพและการป้องกันการทุจริตในขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งล้อม
2.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยให้รายงานผลการดำเนินการดังกล่าว ต่อกระทรวงฯ ทุกปี
2.2 สผ. ควรปรับปรุงแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ทั้ง EIA และ EHIA) ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยส่งเสริมบทบาทของตัวแทนองค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ในการเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ หรือตรวจสอบรับรองการทำงานของผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานฯ
2.3 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาเพิ่มเติมบทลงโทษทางอาญาสำหรับกรณีที่ผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงาน (ทั้งในส่วนของผู้จัดทำรายงานฯ และผู้ดำเนินโครงการ/กิจการ ในฐานะผู้ว่าจ้าง) มีการจัดทำข้อมูลในรายงานฯ หรือรับรองรายงานฯ ซึ่งมีข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง ทั้งโทษปรับและจำคุก รวมถึงการขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยอมรับในการประกอบวิชาชีพ (Black List) ตลอดจนมีการกำหนดมาตรการหรือกลไกในการส่งเสริม จูงใจ หรือบังคับให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าว มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานมากขึ้น
2.4 รัฐบาล โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ควรให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานของรัฐและบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐว่าจ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชน ซึ่งดำเนินการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 รวมถึงประเด็นที่อาจเกิดความไม่โปร่งใสขึ้นได้ทั้งในขั้นตอนการศึกษาและพิจารณารายงานฯ ตลอดจนความเสี่ยงต่อการที่โครงการฯ นั้น อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือส่วนรวมอย่างแท้จริง
3.ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ควรพิจารณาดำเนินการ ได้แก่
3.1จัดทำแนวทางและหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ในทุกประเภทโครงการ/กิจการ ให้มีความชัดเจนและมีมาตรฐาน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือหรือระบบเทคโนโลยีซึ่งดำเนินการในลักษณะ Check list ตามกรอบประเด็นหัวข้อต่าง ๆ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจ และสนับสนุนการดำเนินงานของ คชก. ในขั้นตอนการพิจารณารายงานฯ
3.2 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเรื่องกรอบระยะเวลาในการพิจารณารายงานฯ ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยกรณีที่มีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถดำเนินการพิจารณาได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือส่งผลให้การพิจารณาขาดประสิทธิภาพ อาจเห็นควรให้สามารถขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไปได้
3.3 ปรับปรุงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรจะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณะชนทราบตลอดกระบวนการพิจารณา
3.4 กำหนดให้มีการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ฉบับย่อ ในทุกประเภทโครงการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาทำความเข้าใจ และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้ง่าย
3.5เพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ โดยกำหนดให้มีขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถแสดงความคิดเห็น โต้แย้ง รวมทั้งสามารถอุทธรณ์มติของ คชก. หรือ กก.วล. ในการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA หรือ HIA ของโครงการ/กิจการใด ๆ ได้
4.ด้านการเสริมสร้างกลไกในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สผ. ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรเอกชน เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ รวมทั้งควรพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมาย โดยกำหนดให้มีกลไกการประเมินผลมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่โครงการ/กิจการต่าง ๆ กำหนดขึ้น โดยเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการเข้ามาร่วมสอดส่องดูแล
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าว จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป