กรุงไทย แจงระบบจ่ายเงิน Krungthai Corporate Online มีความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล ให้ความสำคัญพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ครบวงจร หลัง 'อิศรา' ตีข่าวสตง.สอบพบสารพัดเล่ห์จนท.16 ส่วนราชการ-อปท.สบช่องทุจริตตั้งแต่ปี 63 - 66 เม็ดเงินรวมกว่า 332 ล.
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายงานผลการตรวจสอบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปัญหาเงินขาดบัญชีของหน่วยงานรัฐ พบพฤติการณ์การกระทำความผิดที่สำคัญหลายประการ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย โดยปรากฏข้อมูลปัญหาการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online รวมอยู่ด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 ธนาคารกรุงไทย ได้ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่า ระบบ Krungthai Corporate Online เป็นระบบการบริหารจัดการทางการเงินสำหรับหน่วยงาน ที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานในระดับสากล มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ครบวงจร มีการทำรายการแบบมีผู้อนุมัติหลายขั้น การทำธุรกรรมทุกครั้งต้องมีการยืนยันด้วยรหัส (OTP) อีกทั้งสามารถตรวจสอบชื่อบัญชีผู้รับเงินก่อนอนุมัติรายการ
ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตามที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข่าวเรื่อง ปัญหาการเบิกจ่ายภาครัฐผ่านระบบ Krungthai Corporate Online นั้น ธนาคารกรุงไทยขอชี้แจงว่า ระบบ Krungthai Corporate Online เป็นระบบการบริหารจัดการทางการเงินสำหรับหน่วยงาน ที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานในระดับสากล โดยธนาคารให้ความสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ครบวงจร
Krungthai Corporate Online มีการทำรายการแบบมีผู้อนุมัติหลายขั้น (Multiple approval) สามารถกำหนดสิทธิ์และบทบาทของผู้ใช้งานในการทำธุรกรรมได้ โดยกำหนดให้มี ผู้สร้างรายการ (Maker) ผู้ตรวจสอบรายการ (Checker) และผู้อนุมัติรายการ (Authorizer) แยกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นคนละบุคคลกัน เพื่อตรวจสอบข้อมูลก่อนทำรายการโอนเงิน มีการยืนยันการทำธุรกรรมแบบ 2 ชั้น (2-Factor Authentication – 2FA) ด้วยรหัสใช้ครั้งเดียว (OTP) หรือใช้อุปกรณ์ Token ร่วมกับรหัสผ่าน (Password) ในการอนุมัติการโอนเงินชำระเงิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดรายชื่อหน่วยงานที่อนุญาตให้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการ (Biller) ให้เหมาะสมกับการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น การชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร การชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างให้แก่สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น โดยการทำธุรกรรมทุกครั้งต้องมีการยืนยันด้วยรหัส (OTP) อีกทั้งสามารถตรวจสอบชื่อบัญชีผู้รับเงินก่อนอนุมัติรายการ โดยระบบจะแสดงชื่อบัญชีผู้รับเงินจริงที่หน้าจอ เปรียบเทียบกับชื่อบัญชีในไฟล์โอนเงินที่หน่วยงานสร้าง ซึ่งผู้อนุมัติรายการสามารถตรวจสอบได้ก่อนอนุมัติ เพื่อป้องกันการลักลอบโอนเงินไปบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิรับเงิน หรือบัญชีที่ไม่ถูกต้องตรงกับเอกสารการเบิกจ่าย รวมไปถึงการตรวจสอบประวัติการทำธุรกรรมย้อนหลังได้ ผู้ใช้งานในหน่วยงานสามารถเรียกดูรายละเอียดการทำธุรกรรม และประวัติการใช้งานของผู้ใช้งานในระบบได้อย่างโปร่งใส
ธนาคารกรุงไทย พร้อมสนับสนุนและยกระดับบริการเพื่อพัฒนาระบบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ตามวิสัยทัศน์ “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” และขอเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ เปลี่ยนมาใช้บริการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารแทนการใช้เงินสด เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการทำธุรกรรม
อนึ่งเกี่ยวกับกรณี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เหตุผลที่ สตง. เข้าไปตรวจสอบติดตามเรื่องการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ดังกล่าว เป็นเพราะส่วนราชการและ อปท. มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการรับเงิน การจ่ายเงิน และการนำเงินส่งคลังผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับเงิน การจ่ายเงิน และการนำเงินส่งคลัง หรือฝากคลังของส่วนราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในระบบการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการและ อปท.หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่องบประมาณแผ่นดิน สตง.จึงได้มีการตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาตรวจสอบติดตามเรื่องนี้โดยตรง พร้อมวิเคราะห์ข้อมูล ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในภาพรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐต่อไป
ขณะที่ในช่วงปี 2563 - 2566 สตง. ตรวจสอบพบพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ทอาศัยช่องโหว่จากการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online สร้างความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 332 ล้านบาท
- รัฐเสียหาย 332 ล้าน! สตง.แฉเล่ห์จนท.สบช่องทุจริตระบบ KTB มีโอนเงินเล่นพนันออนไลน์40 ล.
- เปิดหมด! สารพัดเล่ห์จนท.16 ส่วนราชการ-อปท.สบช่องทุจริตระบบจ่ายเงินรัฐ เสียหายยับ 332 ล.