"...รูปแบบการทุจริตส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูล รหัสผ่าน เข้าไปยักยอกหรือโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว เจ้าหน้าที่บางรายลงมือกระทำการมากกว่า 215 ครั้ง ตัวเลขความเสียหายสูงสุดอยู่ที่ 58 ล้านบาท ส่วนมูลเหตุจูงใจในการลงมือ เป็นการนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ใช้หนี้ ปล่อยกู้ เล่นพนันออนไลน์ เป็นต้น..."
เม็ดเงินกว่า 332 ล้านบาท!
เป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาทุจริตในระบบการจ่ายเงินรัฐผ่านระบบ KTB Corporate Online ของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 - 2566
ส่วนเหตุผลที่ สตง. เข้าไปตรวจสอบติดตามเรื่องการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ดังกล่าว เป็นเพราะส่วนราชการและ อปท. มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการรับเงิน การจ่ายเงิน และการนำเงินส่งคลังผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับเงิน การจ่ายเงิน และการนำเงินส่งคลัง หรือฝากคลังของส่วนราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในระบบการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการและ อปท.หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่องบประมาณแผ่นดิน สตง.จึงได้มีการตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาตรวจสอบติดตามเรื่องนี้โดยตรง พร้อมวิเคราะห์ข้อมูล ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในภาพรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐต่อไป
คือ ข้อมูลเชิงลึกล่าสุด กรณี สตง.สรุปรายงานผลการตรวจสอบปัญหาเงินขาดบัญชีของหน่วยงานรัฐ พบพฤติการณ์การกระทำความผิดที่สำคัญหลายประการ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย โดยปรากฏข้อมูลปัญหาการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online รวมอยู่ด้วย ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปแล้ว
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ และ อปท. ที่อาศัยช่องโหว่จากการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online กระทำการทุจริตทั้งหมด ที่ สตง. ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 332 ล้านบาท ดังกล่าว
แบ่งเป็นพฤติการณ์เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ จำนวน 3 แห่ง และพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ อปท. จำนวน 13 แห่ง รูปแบบการทุจริตส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูล รหัสผ่าน เข้าไปยักยอกหรือโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว เจ้าหน้าที่บางรายลงมือกระทำการมากกว่า 215 ครั้ง ตัวเลขความเสียหายสูงสุดอยู่ที่ 58 ล้านบาท ส่วนมูลเหตุจูงใจในการลงมือ เป็นการนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ใช้หนี้ ปล่อยกู้ เล่นพนันออนไลน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในการสรุปข้อมูลผลตรวจสอบของ สตง. กรณีนี้ มีการใช้ตัวอักษรย่อแทนชื่อเต็มหน่วยงานที่เกิดเหตุ และไม่ได้เปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดไว้เป็นทางการ ขณะที่ข้อมูลบางส่วนยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนด้วย
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ กรณีพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนราชการ จำนวน 3 แห่ง
รายแรก.
เจ้าหน้าที่รัฐส่วนราชการตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชี แห่งหนึ่ง
พฤติการณ์ : company user maker มีการ upload file การโอนเงินเข้าระบบ Krungthai Corporate Online (ยังไม่กด submit) และพิมพ์รายงานเพื่อขออนุมัติ หลังจากนั้น มีการ upload file ที่ 2 เข้าระบบ Krungthai Corporate Online โดยได้เปลี่ยนชื่อผู้รับเงินเป็นชื่อผู้กระทำผิด และกด submit กด confirm และกด finish เมื่อ Company user Authorizer ผู้อนุมัติตรวจสอบจากรายการเอกสารโอนเงิน (KTB Ipay Report) โดยมิได้กด View เพื่อตรวจสอบรายละเอียด (ยอดรวมตรงกัน) และกด Approve กด Confirm และกด finish ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 1 ต.ค. 63 - 30 ส.ค. 64
มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 8,580,051.73 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไปใช้ส่วนตัว
รายสอง.
เจ้าหน้าที่รัฐส่วนราชการตำแน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี แห่งหนึ่ง
พฤติการณ์ : ทุจริตเงินกองทุนคนพิการ และเงินสงเคราะห์คนยากไร้
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 13 มิ .ย. - 12 ก.ย. 64
มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 58,000,000 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไปใช้ส่วนตัว
รายสาม.
เจ้าหน้าที่รัฐส่วนราชการตำแน่งพนักงานการเงินแห่งหนึ่ง
พฤติการณ์ : นำชื่อบุคคลใกล้ชิดเข้ามาใส่ในบัญชี ผู้ขายของหน่วยงาน และทำเอกสารเท็จเพื่อโอนเงินเข้าบัญชี โดยจะเลือกบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว และไม่อยู่ในงบประมาณ เช่น เงินประกันสัญญา ปี 64 จนได้รับความเสียหาย
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ไม่ระบุ
มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 40,000,000 บาท
มูลเหตุ : เล่นพนันออนไลน์
@ กรณีพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่อปท. จำนวน 13 แห่ง
รายแรก.
เจ้าหน้าที่การเงิน และบัญชี อบต. A
พฤติการณ์ : โอนเงินผ่านระบบ Krungthai Corporate Online จากบัญชี ของ อบต. A ไปเข้าบัญชีธนาคารชื่อของตัวเอง
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 24 ธ.ค. 64 - 4 ก.พ. 66
จำนวน 135 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 44,385,450 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไป ปล่อยกู้และ ใช้ส่วนตัว
รายสอง.
เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีชำนาญงาน เทศบาล B
พฤติการณ์ : รับผิดชอบเกี่ยวกับการเบิกถอน เงินงบประมาณและเงินต่างๆ ของเทศบาล ได้ยักยอกเงินทั้งหมด ดังกล่าวไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้ช่องโหวจากการที่เป็นคนถือรหัส สามารถเบิกถอนเงินออกจากธนาคารได้
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 26 ม.ค. 65 - 17 ม.ค. 66
จำนวน 215 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 15,867,275.49 บาท
มูลเหตุ : ใช้หนี้ส่วนตัว
รายสาม.
นักวิชาการเงิน และบัญชี อบต. C
พฤติการณ์ : มีพฤติกรรมโอนเงินจากบัญชี เงินฝากธนาคารกรุงไทยของ อบต. C เข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของตนเอง
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ไม่ระบุ
จำนวน 8 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 548,420 บาท
มูลเหตุ : ใช้หนี้ส่วนตัว
รายสี่.
ผู้อำนวยการกองคลัง อปท.D
พฤติการณ์ : ใช้รหัส Company User Maker ของบุคคลที่ย้ายไปแล้ว เข้าสู่บัญชี ของนางสาว บ. (คาดว่าเป็นบัญชีม้า) และบัญชีม้ามีการโอนต่อไปยัง บัญชีนางสาว ว. ซึ่งมีความสัมพันธ์ เป็นภรรยาของผูอำนวยการกองคลัง
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ธ.ค. 64 - มี.ค. 66
จำนวน 59 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 4,077,951.73 บาท
มูลเหตุ : นำไปใช้ส่วนตัว
รายห้า.
ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงิน และบัญชี อบต.E
พฤติการณ์ : โอนเงินของ อบต. E เข้าบัญชี ตนเองเป็นจำนวนมากในช่วงเวลา ใกล้เคียงกัน
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 28 ธ.ค. 64 - มิ.ย. 66
จำนวน 84 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 4,977,412.28 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไปใช้ส่วนตัวและเล่นการพนันออนไลน์
รายหก.
ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชนปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงิน และบัญชี อบต.F
พฤติการณ์ : โอนเงินของ อบต. F เข้าบัญชี ตนเองเป็นจำนวนมากในช่วงเวลา ใกล้เคียงกัน
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ไม่ระบุ
จำนวน 60 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 5,860,494.08 บาท
มูลเหตุ : ใช้หนี้ส่วนตัว
รายเจ็ด.
เจ้าพนักงาน การเงินและบัญชี ชำนาญงาน อปท.G
พฤติการณ์ : โอนเงินเข้าบัญชีตนเอง และโอนต่อ ไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ของตนเอง และญาติ
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ไม่ระบุ
จำนวน 23 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 8,350,000 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไปใช้ส่วนตัว
รายแปด.
ผู้อำนวยการกองคลัง อปท.H
พฤติการณ์ : มีหน้าที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีสิทธิ เข้าใช้งานในฐานะ Company User Maker และในฐานะ Company User Authorizer เข้าไปจัดทำ รายการขอโอนเงินและอนุมัติ รายการโอนเงินในระบบKrungthai Corporate Online ไปเข้าบัญชี เงินฝากธนาคารของตัวเองโดย พลการ ทั้งๆ ที่ตนไม่มีสิทธิรับเงิน และไม่มีเอกสารหลักฐาน
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 31 พ.ค. 64 - 28 ก.พ. 65
จำนวน 103 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 15,515,000 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไปใช้ส่วนตัว
รายที่เก้า
เจ้าพนักงาน การเงินและ บัญชีชำนาญงาน อปท.I
พฤติการณ์ : เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บันทึกรายการ Company User maker ซึ่งมีหน้าที่ในการจ่ายเงิน ทำรายการขอโอนเงิน ตรวจสอบ ความถูกต้องของรายการ กระทำ การทุจริตในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเข้าบัญชีของตนเอง และได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ในฐานะ Company User Maker ด้านการจ่ายเงิน กระทำการจัดทำรายการโอนเงินและนำรหัสของผู้อนุมัติการเบิก จ่ายเงิน Company User Authorizer มาทำการอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน ให้กับตนเองโดยมิชอบ
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 1 ธ.ค. 64 - 8 มี.ค. 65
จำนวน 14 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 8,692,245 บาท
มูลเหตุ : นำเงินไปใช้ส่วนตัว
รายที่สิบ
เจ้าพนักงานการเงินเทศบาล J
พฤติการณ์ : นายกเทศมนตรี มอบรหัสให้ พนักงานการเงิน และพบว่ามีการเบิกเงินออกจากบัญชีของเทศบาล
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : พ.ค. – มิ.ย. 65
จำนวน 47 ครั้ง มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 31,700,000 บาท
มูลเหตุ : ไม่ระบุ
รายที่สิบเอ็ด
เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ของ อปท.K อยู่ระหว่างการสอบสวน
พฤติการณ์ : มีการโอนออกจากบัญชีเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบริษัทขายสินค้าออนไลน์แห่งหนึ่ง
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ไม่ระบุ
มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 58,000,000 บาท
มูลเหตุ : นำเงินใช้ส่วนตัว
รายที่สิบสอง
พนักงานส่วน ตำบล อปท.L
พฤติการณ์ : อยู่ระหว่างการสอบสวน จากการตรวจสอบพบเงินขาดบัญชี
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : ไม่ระบุ
มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 26,000,000 บาท
มูลเหตุ : ไม่ระบุ
รายที่สิบสาม
นักวิชาการเงิน และบัญชี อปท.M
พฤติการณ์ : ทุจริตการโอนเงินผ่านระบบ Krungthai Corporate Online
ช่วงเวลาเกิดเหตุ : 25 - 26 ก.ค. 65
มูลค่าความเสียหายโดยประมาณ 11,000,000 บาท
มูลเหตุ : เล่นพนันออนไลน์
****************
ทั้งหมดนี้ เป็นพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ และ อปท. จำนวน 16 แห่ง ที่อาศัยช่องโหว่จากการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online กระทำการทุจริตที่ สตง. ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 332 ล้านบาท ตามที่ระบุไปแล้ว
แม้ในการสรุปข้อมูลผลตรวจสอบของ สตง. กรณีนี้ จะมีการใช้ตัวอักษรย่อแทนชื่อเต็มหน่วยงานที่เกิดเหตุ และไม่ได้เปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดไว้เป็นทางการ ขณะที่ข้อมูลบางส่วนยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนด้วย
แต่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลชื่อเต็มหน่วยงานที่เกิดเหตุมาบางส่วนแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้าน
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะทยอยนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อ่านประกอบ :
- พบทุจริตเพียบ! สตง.สอบปัญหาเงินขาดบัญชี 15 หน่วยงาน-เจอชื่อคนตายรับเบี้ยยังชีพคนชรา
- รัฐเสียหาย 332 ล้าน! สตง.แฉเล่ห์จนท.สบช่องทุจริตระบบ KTB มีโอนเงินเล่นพนันออนไลน์40 ล.
- ผส.แจงจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา กำกับเชิงนโยบายไม่เกี่ยวตรวจสถานะตาย-ปี 68 ได้งบ 9.5 หมื่นล.