เจาะผลสอบ สตง.ปัญหาเงินขาดบัญชีส่วนราชการ-อปท. กรณีใช้จ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online พบเจ้าหน้าที่รัฐอาศัยช่องโหว่ทุจริตเพียบราชการเสียหายหนัก 332 ล้าน ยกเคส พนง.การเงิน นำชื่อบุคคลใกล้ชิดใส่ในบัญชีผู้ขายของหน่วยงาน ทำเอกสารเท็จโอนเงินเข้าตัวเองกว่า 40 ล้าน ไปเล่นพนันออนไลน์ แฉเล่ห์เลือกบัญชีไม่เคลื่อนไหว ไม่อยู่ในงบประมาณ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบปัญหาเงินขาดบัญชีของ 15 หน่วยงานรัฐ พบพฤติการณ์การกระทำความผิดที่สำคัญหลายประการ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย โดยปรากฏข้อมูลปัญหาการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online รวมอยู่ด้วยนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ในส่วนราชการและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สตง.ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 พบมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนสูงถึง 332 ล้านบาท
นอกจากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่บางหน่วยงานที่อาศัยโอกาสที่ตนมีสิทธิเข้าใช้งานในฐานะ Maker2 และ Authorizer ได้เข้าไปจัดทำรายการขอโอนเงินผ่านเมนูชำระค่าสินค้าและบริการ และอนุมัติการโอนเงินรายการดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองโดยที่ตนเองไม่มีสิทธิรับเงินและไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินให้ตรวจสอบ และกรณีเจ้าหน้าที่อาศัยโอกาสเข้าไปยืนยันตัวตนในระบบ KTB Corporate Online ในฐานะ Authorizer แทนผู้บังคับบัญชา ยืนยันการเปลี่ยนแปลงรหัสการเงินและจัดทำรหัสไว้สร้างรายการโอน เงินในระบบฯ โดยไม่มีการจัดทำฎีกาเบิกจ่ายเงินและไม่ได้รับอนุมัติการเบิกจ่ายเงินจากผู้มีอำนาจอนุมัติ แต่ได้ใช้รหัสผ่านของผู้อนุมัติ เข้าไปอนุมัติการโอนเงินจากบัญชีหน่วยงาน เข้าบัญชีตนเองเพื่อ นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวด้วย ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไปแล้ว
สตง.ยังตรวจสอบพบ กรณีเจ้าหน้าที่การเงินของส่วนราชการและอปท.หลายแห่ง มีพฤติการณ์ทุจริตจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online ด้วย อาทิ เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีส่วนราชการแหน่งหนึ่ง ทุจริตเงินกองทุนคนพิการ และเงินสงเคราะห์คนยากไร้ และนำเงินไปใช้ส่วนตัว จำนวนกว่า 58 ล้านบาท รวมถึงกรณีพนักงานการเงินส่วนราชการแห่งหนึ่ง นำชื่อบุคคลใกล้ชิดเข้ามาใส่ในบัญชีผู้ขายของหน่วยงาน และทำเอกสารเท็จเพื่อโอนเงินเข้าบัญชี โดยจะเลือกบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหวและไม่อยู่ในงบประมาณ เช่น เงินประกันสัญญา ปี 2564 จนได้รับความเสียหาย รวมมูลค่า 40,000,000 บาท เพื่อนำเงินไปเล่นพนันออนไลน์
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ สตง. เข้าไปตรวจสอบติดตามเรื่องการจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online เป็นเพราะส่วนราชการและ อปท. มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการรับเงิน การจ่ายเงิน และการนำเงินส่งคลังผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับเงิน การจ่ายเงิน และการนำเงินส่งคลัง หรือฝากคลังของส่วนราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถิอปฏิบัติ
แต่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนว่า มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในระบบการเบิกจ่ายเงิน ของส่วนราชการและ อปท.หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่องบประมาณแผ่นดิน สตง.จึงได้มีการตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาตรวจสอบติดตามเรื่องนี้โดยตรง พร้อมวิเคราะห์ข้อมูล ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในภาพรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐต่อไป