คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ลุยไม่หยุด! ยื่นคำร้อง กกต. ฉบับที่ 5 ขอให้ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยความเป็นรมต. 'แพทองธาร ชินวัตร-รมต. ทุกคน' สิ้นสุดลงหรือไม่ เหตุขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม แถลงนโยบายต่อรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ มุ่ง 'ประชานิยม' ไม่คำนึงถึงที่มาแห่งรายได้ แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น รวมโครงการอื่นอีกเพียบ ไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน เข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2567 กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 36 คน ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จากการร่วมกันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีลักษณะจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ชัดเจน ไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการภายใต้การบริหารของตนในเรื่องที่มีความสำคัญ ทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุในคำร้องยื่นต่อ กกต.ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 และเสร็จสิ้นการอภิปรายซักถามของสมาชิกรัฐสภาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 กันยายน 2567 คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงวันที่ 14 กันยายน 2567 เพื่อขอให้ กกต.ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 36 คน ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จากการร่วมกันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย มีลักษณะจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ชัดเจน ไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการภายใต้การบริหารของตนในเรื่องที่มีความสำคัญ ทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดยคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยชัดเจนให้ต้องกระทำ ซึ่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะรัฐมนตรีซึ่งดูแลงานด้านกฎหมาย ได้รู้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดีโดยได้อภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาครั้งนี้ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรีจึงรู้หรือควรรู้ว่าจะต้องชี้แจงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ชี้แจงไว้แม้แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งการไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้เคยเกิดปัญหามาแล้วในรัฐบาลชุดก่อนที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเช่นกัน ทำให้การดำเนินนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิตอลให้กับประชาชน ต้องเลื่อนไป 6-7 ครั้ง ทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่วิกฤตตามความเห็นของคณะรัฐมนตรีชุดก่อนที่จำเป็นต้องทำทันที แต่ต้องเปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาของเงินไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาถึง 1 ปี เนื่องจากได้รับการทักท้วงจากองค์กรหรือหน่วยงานสำคัญ ต่าง ๆ ว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายครั้งหลายหน และเมื่อจะหันกลับมาใช้งบประมาณปกติก็ไม่มีความเพียงพออีก ตามที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้อภิปรายและสรุปการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา โดยการชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเข้าบริหารประเทศโดยผิดต่อเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทำให้เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
คำร้องมีรายละเอียดว่า คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีจะต้องมีเนื้อหาครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าคำแถลงนโยบายขาดเนื้อหาที่เป็นการชี้แจงในเรื่องที่มีความสำคัญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ต้องมี ได้แก่ การชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยได้อ้างถึง เอกสารของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในส่วนของมาตรา 162 ระบุไว้ว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย มีความมุ่งหมายเพื่อกำหนดเงื่อนไขการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี เป็นการป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีจัดทำนโยบายในลักษณะ “ประชานิยม” โดยไม่คำนึงถึงที่มาแห่งรายได้ของรัฐที่จะนำมาใช้จ่าย ซึ่งในการหาเสียงของพรรคการเมืองด้วยนโยบายที่ไม่ระบุถึงแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบาย จะมีผลให้พรรคการเมืองนั้น แม้จะได้รับเสียงข้างมากจนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ก็จะไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้มากำหนดเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้.... ซึ่งหมายถึงหากคณะรัฐมนตรีจะนำเอานโยบาย “ประชานิยม” ที่ใช้หาเสียงมากำหนดเป็นนโยบายเพื่อให้สามารถแถลงต่อรัฐสภาได้ จะต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไว้โดยละเอียดในคำแถลงนโยบาย
"รัฐธรรมนูญมาตรา 162 วรรคหนึ่ง มีความเคร่งครัด โดยมีคำว่า “ต้อง” ในทุกการกระทำที่บัญญัติไว้ คือ คณะรัฐมนตรี “ต้อง” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยนโยบายที่แถลง “ต้อง” สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้ง “ต้อง” ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย การชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง พิจารณาได้จากความหมายของคำว่า “ชี้แจง” ที่หมายถึง “พูดขยายความให้เข้าใจชัดเจน” ( อ้างอิงความหมายจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ) โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้บัญญัติเพียงให้ “ระบุประเภท” ของแหล่งรายได้ที่จะนำเงินมาใช้ แต่บัญญัติให้ต้อง “ชี้แจง” แหล่งที่มาของรายได้ ดังนั้น คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีจึงต้องมีการขยายความให้รัฐสภามีความเข้าใจโดยชัดเจน ซึ่งความชัดเจนในบางเรื่องจะต้องแสดงในเชิงปริมาณเป็นตัวเลขด้วย เพื่อให้รัฐสภามีความเข้าใจและมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้แทนของประชาชนและประชาชนได้รู้และเข้าใจว่าเงินภาษีของประชาชนหรือหนี้สาธารณะที่จะก่อขึ้น จะถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง และเป็นสัดส่วนอย่างไร โดยมิใช่ระบุไว้แต่เรื่องที่จะดำเนินการแต่ไม่ได้กล่าวถึงแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินการ หรือกล่าวถึงแต่เพียงประเภทของแหล่งเงินโดยไม่มีรายละเอียดในแต่ละนโยบาย หรืออ้างว่าจะมีรายละเอียดเมื่อได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้เช่นนั้น แต่บัญญัติให้ต้องชี้แจงในขณะที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา"
คำร้องระบุอีกว่า คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในคำแถลงนโยบายที่มีความยาวมากถึง 75 หน้า (รวมภาคผนวก) ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไว้แม้แต่เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะนโยบายระยะเร่งด่วน 10 นโยบาย ในส่วนของนโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเป็นนโยบายเดียวกับนโยบายเติมเงิน10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิตอล ให้กับประชาชนประมาณ 50 ล้านคน ของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนโยบายที่สามารถคำนวณกรอบวงเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายได้ทันทีว่าเป็นวงเงินที่สูงประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่านั้นบ้างเล็กน้อยหากมีการปรับลด คณะรัฐมนตรีจึงต้องรู้ว่าจะใช้เงินจำนวนสูงนี้จากแหล่งเงินใด แต่ไม่ได้แถลงต่อรัฐสภาว่าจะนำเงินมาจากแหล่งรายได้ใด จะใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณโดยการกู้เงินจากแหล่งใด เป็นจำนวนเท่าใด หรือเป็นสัดส่วนอย่างไร นอกจากนโยบายนี้แล้วนโยบายอื่น ๆ ที่มีอีกหลายนโยบาย ก็ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้เช่นกัน ทำให้รัฐสภาไม่อาจรู้ได้ว่าคณะรัฐมนตรีจะกระจายเงินจากแหล่งรายได้ที่มีอยู่ไปยังนโยบายต่าง ๆ เป็นสัดส่วนอย่างไรบ้าง มีความทั่วถึงและเป็นธรรมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ หรือไม่
"ในขณะที่คำแถลงนโยบายในเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เพียง “ต้องสอดคล้อง” คณะรัฐมนตรีกลับได้อธิบายรายละเอียดมีความยาวมากถึง 59 หน้า แต่ในเรื่องที่ “ต้องชี้แจง” กลับไม่ได้ระบุไว้เลย ชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีจะกระทำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเฉพาะเพียงเท่าที่ต้องการจะกระทำเท่านั้น แต่ในเรื่องที่ไม่ต้องการกระทำแม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้ต้องกระทำก็จะไม่กระทำ ได้แก่ การชี้แจงหรือขยายความให้เข้าใจชัดเจนในเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีอาจมีเจตนาทำให้หลักการและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญสูญเสียไป โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยจะกระทำตามหรือไม่ก็ได้ หรือจะกระทำตามเท่าที่ต้องการเท่านั้น"
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุในคำร้องด้วยว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยึดโยงกับประชาชนในทุกเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบต่อรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 วรรคสอง โดยประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 และมาตรา 3 การไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภาที่เป็นผู้แทนประชาชนจึงอาจเป็นการไม่เคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จากการที่คณะรัฐมนตรีซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านบริหาร และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีกลับได้ใช้อำนาจบริหารที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงอาจเป็นการไม่เคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงแต่งตั้ง อีกทั้งอาจไม่ได้กระทำตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการแสดงถึงการไม่ยึดมั่นต่อรัฐธรรมนูญของผู้ที่กระทำ หากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะเป็นการกระทำที่ใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง จึงถือว่ายังไม่มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง การเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และผิดต่อเงื่อนไขการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เมื่อการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ จึงเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลงในเรื่องที่มีความสำคัญ
"รัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ย่อมต้องศึกษาถึงอำนาจหน้าที่ของตนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำคำแถลงนโยบายจึงต้องรู้หรือควรรู้ถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความว่า ต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต่อรัฐสภา โดยไม่อาจอ้างว่าเป็นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วยเนื้อหาทำนองเดียวกับคณะรัฐมนตรีชุดก่อน ๆ ในอดีต จึงย่อมกระทำได้เช่นเดียวกันโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการอ้างความเสมอภาคในการกระทำความผิดต่อกฎหมายที่มิอาจอ้างได้ เช่นเดียวกับประชาชนไม่อาจอ้างการกระทำผิดกฎหมายของคนอื่นแล้วไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้กระทำผิดของตนเป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดนี้โดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ ย่อมเป็นการกระทำผิดร่วมกันของรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ และเป็นการกระทำผิดซ้ำของรัฐมนตรีบางคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้า"
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุอีกว่า ผลของการจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องตีความ จึงทำให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรีตามประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 กันยายน 2567 จำนวนทั้งสิ้น 36 คน ได้กระทำการที่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ ไม่มีความซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการและพนักงานในองค์การของรัฐอื่นภายใต้การบริหารของตน จึงเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) โดยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (ไม่ถึงขั้นต้องเป็นที่ประจักษ์) เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) การที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
โดยการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยการแถลงนโยบายในลักษณะเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นในคณะรัฐมนตรีชุดก่อน จึงทำให้บุคคลในคณะรัฐมนตรีชุดก่อนคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีตามประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวนทั้งสิ้น 35 คน ซึ่งได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เช่นเดียวกัน โดยไม่อาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้อีกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ท้ายคำร้องระบุว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เป็นอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม จึงขอให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ระบุว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 41 วรรคสาม ห้ามมิให้บุคคลใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง....หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 68
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุว่า การยื่นคำร้องต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจปกครองประเทศให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเนื่องจากประเทศไทยเป็นนิติรัฐ และเป็นหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองของประเทศ คำร้องที่ยื่นจะอาศัยฐานแห่งข้อเท็จจริงจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรตามกฎหมายที่เชื่อถือได้ หรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัด โดยไม่ใช้ข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือการกระทำในอดีตที่ยาวไกล หรือใช้ข้อสันนิษฐานส่วนบุคคลมาอ้างอิง โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต จะเสนอให้ตรวจสอบเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริตในทางการเมืองจากการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อกฎหมายที่สำคัญ รวมทั้งการกระทำที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น
“ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ มิใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใด และดำเนินการโดยไม่ได้รับอามิสสินจ้าง ” ตัวแทนคณะนิติชน-เชิดชูธรรม กล่าวในที่สุด
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม คือกลุ่มบุคคลที่เคยยื่นเรื่องต่อ กกต.มาแล้ว 3 เรื่อง ในนามบุคคล คือ 1.กรณียุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ใช้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ คณะกรรมการบริหารพรรค เอื้อประโยชน์ตนเอง 2. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ 3. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องที่ 2
ส่วนการยื่นเรื่องในนามคณะบุคคล มี 1 คำร้อง กรณีขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
ขณะที่คำร้องให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 36 คน ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จากการร่วมกันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถือเป็นคำร้องฉบับที่ 5
อ่านประกอบ :
- 'ทักษิณ' ใช้ 'เศรษฐา' ครอบงำ คกก.บริหารพรรค! อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.ร้อง กกต.ยุบ 'เพื่อไทย'
- ฉบับเต็ม! หนังสือร้อง กกต.ยุบ เพื่อไทย อ้างคำวินิจฉัยศาลรธน. 'ทักษิณ' ครอบงำคกก.บริหารพรรค
- จัดอีก 2 ปม! ผู้ร้องเรียนคนเดิมยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก'แพทองธาร'-ฟันคกก.บห.เพื่อไทย
- ฉบับเต็ม! 2 คำร้องใหม่ ยื่น กกต.วินิจฉัยความเป็นนายก 'แพทองธาร' - ฟัน คกก.บห.เพื่อไทย
- เหตุที่ชั้น14 จะนำไปสู่ห้องพิจารณาศาล รธน.? แพทองธาร (พึง) ระวังตั้ง รมต.กระทรวงสำคัญ
- คำร้องที่ 4! คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นกกต.ขอศาล รธน.สั่ง 'แพทองธาร-ทวี' พ้นตำแหน่ง