ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ป้องกันทุจริตบริหารจัดการ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ประเมิน ‘คนต่างด้าว’ เข้าเมืองผิดกฎหมาย 2.2 ล้านคน เม็ดเงินหมุนเวียน ‘ค่านายหน้า’ กว่า 1.1-6.6 หมื่นล้าน
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำกลับมาเสนอ ครม. ต่อไป
สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านนโยบายและปัญหาอันเกิดจากนโยบาย
1.รัฐบาลต้องดำรงความมุ่งหมายของนโยบายที่ว่าแรงงานต่างชาติทุกคนต้องอยู่ในระบบ
2.รัฐบาลต้องคงไว้ซึ่งนโยบายการนำเข้าแรงงานข้ามชาติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MOU)
3.รัฐบาลควรเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการนำเข้าแรงงานข้ามชาติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MOU) แก่นายจ้างและสถานประกอบการ และควรกำหนดมาตรการจูงใจให้นายจ้างและสถานประกอบการใช้แรงงานตามระบบ MOU เพื่อลดปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง
4.ในระหว่างการดำเนินการนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU หากมีกรณีจำเป็นต้องผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่แรงงานตามระบบ MOU อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานต่อไปได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่การอนุญาตสิ้นสุดเท่านั้น สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมือง ให้ส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
5.รัฐบาลควรพิจารณากำหนดมาตรการจูงใจให้นายจ้าง/สถานประกอบการ จ้างแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย โดยลดขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่จำเป็น รวมถึงการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมแก่นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีประวัติจ้างแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายมาโดยตลอด
6.รัฐบาลควรกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางให้สถานพยาบาลจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลคนต่างด้าวที่เข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ (เกิดหนี้สูญ) เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดภาระของสถานพยาบาล
รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ปัญหานายจ้างที่ปฏิบัติตามกฎหมายถูกเอาเปรียบจากนายจ้างบางส่วนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง
7.รัฐบาลควรกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยอาจกำหนดให้มีหน่วยงานเฉพาะหรือหน่วยงานตรวจสอบภายในดำเนินการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง
8.รัฐบาลควรกำหนดมาตรการในการคุ้มครองอย่างรัดกุมในทุกๆ ด้านแก่ประชาชนผู้ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยการเก็บรักษาข้อมูลของบุคคลนั้นเป็นความลับ
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการ
กระทรวงแรงงาน
-คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
(1) ควรกำหนดมาตรการและแนวทางในการนำแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบให้หมดโดยเร็ว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานายหน้าผิดกฎหมายและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน และเพื่อลดปัญหาหนี้สูญอันเกิดจากการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวที่มีสถานะผิดกฎหมาย
-กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
(2) ควรซักซ้อมแนวปฏิบัติตาม “คู่มือการวินิจฉัยความผิดฐานบังคับใช้แรงงานตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 (สำหรับเจ้าหน้าที่)” ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
(3) ควรประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและบริการ แก่นายจ้าง ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ตลอดจนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงมหาดไทย
(1) ควรกำหนดมาตรการควบคุมการใช้บัตรผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพและป้องกันการเดินทางออกนอกพื้นที่อนุญาต เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงฯ ให้ชัดเจนว่าประชาชนจากประเทศต้นทางที่ต้องการถือบัตรผ่านแดนเข้ามาในเขตพื้นที่ชายแดนไทย ต้องมีภูมิลำเนาในพื้นที่ชายแดนเป็นระยะเวลานานเท่าใดจึงจะสามารถทำบัตรผ่านแดนเพื่อเข้ามายังพื้นที่ชายแดนไทยได้
(2) ควรเพิ่มมาตรการคัดกรองเบื้องต้นแก่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถือบัตรผ่านแดน โดยให้บุคคลเหล่านั้นแสดงเอกสารหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามวัตถุประสงค์ของความตกลงฯ แต่ละกรณี
(3) ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัด ควรกำหนดมาตรการในการกำกับ ควบคุม และกำชับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมบูรณาการการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบแสวงหาประโยชน์จากขบวนการเครือข่ายนายหน้าขนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย
(4) ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติ ควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด สื่อมวลชน และภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันแจ้งข้อมูลแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง
(5) ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ควรกำหนดมาตรการในการคุ้มครองอย่างรัดกุมในทุกๆ ด้านแก่ประชาชนในพื้นที่ผู้ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยการเก็บรักษาข้อมูลของบุคคลนั้นเป็นความลับ
หน่วยงานด้านความมั่นคง
-กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ต้องกำหนดมาตรการให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด และกำชับเจ้าหน้าที่มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ
ตลอดจนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเต็มกำลังความสามารถ หากพบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หย่อนยาน หรือปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้พิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลทุกกรณีอย่างเด็ดขาด ทั้งทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครอง แล้วแต่กรณี
@คาด‘เงินหมุนเวียน’ลักลอบนำเข้าแรงงานฯ 1.1-6.6 หมื่นล.
รายงานข่าวแจ้งว่า ป.ป.ช.ได้วิเคราะห์ปัญหาด้านนโยบายและปัญหาอันเกิดจากนโยบาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ปัญหาการผ่อนผันแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่มีสถานะผิดกฎหมายและกลุ่มลักลอบเข้าเมือง
มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2563 เรื่อง การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่
มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีเหตุผลความจำเป็นอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
มีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะผิดกฎหมาย ทั้งโดยการลักลอบเข้าเมือง และโดยการอนุญาตสิ้นสุด แต่ไม่ได้ไปดำเนินการใดๆ ตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มีการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขบวนการขนย้ายแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางรายเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วย
2.ปัญหานายจ้างบางส่วนยังคงลักลอบจ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
นายจ้างบางส่วนยังคงลักลอบจ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย เนื่องจากสามารถจ้างแรงงานด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อจ้างแรงงานตามระบบ ส่งผลให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบการเรียกรับสินบนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากสถิติจำนวนผู้ป่วยคนต่างด้าวที่เข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วเกิดหนี้สูญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) พบว่ามีจำนวนมากถึง 2,203,833 ราย
ในจำนวนดังกล่าวนี้ หากมีบางส่วนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วเกิดหนี้สูญเพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้เนื่องจากเกินวงเงินประกัน หรือหากมีกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลซ้ำในรอบปีนั้นๆ ตัวเลขดังกล่าวก็ยังถือว่าสูง ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ยืนยันจำนวนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทยได้ แสดงให้เห็นว่า นายจ้างมีการจ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในประเทศจำนวนมาก ประมาณ 2.2 ล้านคน
3.ปัญหาขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายยังคงดำรงอยู่
จากกรณีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก โดยมีค่าใช้จ่ายให้นายหน้ารายละประมาณ 5,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัดปลายทาง หากอิงจากตัวเลขการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวผิดกฎหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวนประมาณ 2.2 ล้านคน อาจเป็นไปได้ว่ามีเงินหมุนเวียนในกระบวนการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายประมาณ 11,000-66,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินหรือผลประโยชน์จำนวนมาก จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ขบวนการเครือข่ายนายหน้าและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนที่กระทำการทุจริตไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด