รฟท.โอนสัญญาเช่าที่ดินในมือ 12,233 สัญญาให้ SRTA แล้ว คาดปั๊มรายได้ให้องค์กรไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ด้านผู้ว่ารถไฟเผย ‘เซ็นทรัล’ ส่งสัญญาณขอเจรจาต่อสัญญา ‘เซ็นทรัลลาดพร้าว’ แล้ว หลังกำลังจะหมดสัญญาปี 2571 นี้ ก่อนเปิดที่ดิน 7 ทำเลลุยพัฒนาเฟสแรก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ซึ่งจะครบสัญญาเช่าในเดือนธันวาคม 2571นี้ โดยที่ดินดังกล่าว บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ทำหนังสือถึง รฟท.แจ้งความประสงค์ขอต่อสัญญาเมื่อต้นปี 2567 ซึ่งเซ็นทรัลได้สิทธิ์ในการขอเจรจา แต่จะต่อหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการพูดคุยกัน
โดยสัญญาที่มีกับเซ็นทรัล รฟท.ได้ส่งมอบให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกของรฟทที่ถือหุ้น 100% แล้ว หลังจากนี้ SRTA มีหน้าที่ไปเจรจากับเซ็นทรัล
นอกจากนี้ ผู้ว่ารฟท.ยังกล่าวด้วยว่า ยังมีที่ดินของรฟท.ที่ครบสัญญาและกำลังจะหมดสัญญา มีประมาณ 500 สัญญา ที่ SRTA จะต้องดำเนินการศึกษารายละเอียดอัตราค่าเช่าต่างๆ ใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด อาทิ ที่ดินแนวถนนรัชดาภิเษก เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัญญาเช่าที่รฟท.ให้ทางเซ็นทรัลเช่า เพื่อพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวนั้น
มีพื้นที่รวม 47.22 ไร่ เป็นพื้นที่ก่อสร้างของห้างรวม 310,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว โซนพลาซ่า โรงแรม ศูนย์ประชุม และอาคารสำนักงาน มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาเช่าในวันที่ 18 ธ.ค. 2571 นี้
สำหรับรายละเอียดสัญญา เริ่มต้นเช่าครั้งแรกเมื่อปี 2521 ครบสัญญารอบแรก 30 ปี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2551 จากนั้นได้เจรจาต่อสัญญาอีก 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค 2551-วันที่ 18 ธ.ค 2571 โดยรฟท.ได้ผลตอบแทนคิดเป็นวงเงินรวมตลอดอายุสัญญา 21,298 ล้านบาท
ปัจจุบันสัญญาเหลือเวลา 4 ปี ขณะที่ค่าเช่าที่เหลือ ซึ่งเซ็นทรัลต้องจ่ายตามสัญญานั้น ในปี 2567 จำนวน 1,387.603 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 1,470.859 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 1,559.111 ล้านบาท ปี 2570 จำนวน 1,652.658 ล้านบาท และปี 2571 จำนวน 1,751.817 ล้านบาท
@มอบสัญญาเช่าให้ SRTA 12,233 สัญญา คาดรายได้เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในฐานะกำกับดูแล SRTA เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 12,233 สัญญา ให้กับ SRTA ซึ่งเป็นบริษัทลูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ และก่อให้เกิดรายได้สูงสุดแก่องค์กร
นายสุรพงษ์กล่าวว่า รฟท.มีที่ดินเชิงพาณิชย์ (Non Core) ทั้งหมด 38,469 ไร่ ซึ่งมีจำนวน 12,233 สัญญา ที่จะทำการส่งมอบให้ SRTA ไปพัฒนาให้เกิดรายได้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคู่สัญญาที่เป็นผู้เช่าและผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเช่าพื้นที่ของ รฟท.ต่อไป และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ รฟท.เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 3,700 ล้านบาทต่อปี ตั้งเป้าหมายเป็น 5,000 ล้านบาท ส่วนที่ดินหรือสัญญาที่ยังมีข้อพิพาท ประมาณ 50 สัญญา ยังไม่สามารถส่งมอบให้ SRTA ได้ โดยต้องการให้ รฟท.ดำเนินการไปจนคดีสิ้นสุดก่อน
“กรณีที่สัญญาหมดอายุ หากจะต่อสัญญาใหม่ แนวทางก็จะมีการประเมินราคาใหม่ และจะต้องเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีที่ดินแปลงใหญ่ที่ SRTA จะต้องนำไปพัฒนาหาผู้เช่า จึงคาดว่าหลังจากนี้ รฟท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” รมช.คมนาคมกล่าว
รมช.คมนาคมกล่าวต่อว่า สำหรับกิจการหลักของ รฟท. คือการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและสินค้านั้น ขณะนี้การก่อสร้างรถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2571 จะทำให้เพิ่มระยะทางจาก 4,400 กม. เป็นกว่า 7,000 กม. รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่ง รฟท.จะมุ่งการบริหารการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่ได้มีมติจัดตั้งบริษัทลูกแยกการบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อให้ รฟท.มุ่งเน้นด้านธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อพัฒนาเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศต่อไป
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ที่ส่งมอบให้กับ SRTA ประกอบด้วย 1. สัญญา ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,856 สัญญา 2. สัญญาฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ จำนวน 6,369 สัญญา 3. สัญญาฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 8 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่ เพื่อให้บริษัทลูกของการรถไฟฯ นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่และเจรจากับบุคคลที่สาม หรือร่วมทุนกับเอกชน เพื่อรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการ ตลอดจนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯ หรือซื้อที่ดินจากองค์กรอื่นมาพัฒนาและบริหารจัดการ
ทั้งนี้ บริษัทต้องแบ่งผลตอบแทนให้การรถไฟฯ ในฐานะผู้บริหารสัญญา ร้อยละ 5 ของรายได้จากค่าบริหารสัญญา ซึ่งรฟท.ตั้งเป้าหมายรายได้ในระยะแรกเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท
@เปิด 7 ที่ดิน ทำเลทองพัฒนาเฟสแรก
สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์อีก 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่และสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ นั้น เบื้องต้นบริษัท SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการออกเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกจะดำเนินการในปี 2568 จำนวน 7 แปลง ประกอบด้วย
1) โครงการบางซื่อ-คลองตัน (RCA)
2) โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย
3) โครงการตลาดคลองสาน
4) โครงการสถานีราชปรารภ (แปลง OA)
5) โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อ.ต.ก.)
6) โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง
7) โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5)
ส่วนที่เหลือนั้นจะดำเนินการในปี 2569-2572 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ส่งผลการศึกษาที่ดินแปลงที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ (Non Core) จำนวน 28 แปลงดังกล่าวให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 แล้ว รวมถึงการมอบสัญญาเช่าบางส่วนให้กับบริษัท SRTA นำไปศึกษาและดำเนินการจัดทำแผนเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ด้วย
ปัจจุบันที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จำนวน 33,761 ไร่
“การส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ในครั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาสินทรัพย์ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ ให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดต่อการรถไฟฯ อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป" ผู้ว่ารฟท.ระบุ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบให้การรถไฟฯ จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของการรถไฟฯ 100% แต่สามารถสร้างรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ที่มาภาพปก: บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)