‘ธปท.’ ไม่รับข้อเสนอ ‘คลัง’ ดัน ‘เงินเฟ้อ’ ขยายตัว 2% ชี้เงินเฟ้อไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่มีไว้เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต ย้ำกรอบเงินเฟ้อ 1-3% เหมาะสมแล้ว ไม่ห่วงคนจาก ‘ฝ่ายการเมือง’ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ระบุไม่ทำให้การดำเนิน ‘นโยบายการเงิน’ ในภาพใหญ่ เปลี่ยนไป
.................................
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Monetary Policy Forum โดยกล่าวถึงผลการหารือระหว่าง ธปท. กับ รมว.คลัง เรื่องการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ ปี 2568 เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) ว่า ในภาพรวม ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. เห็นพ้องต้องกันว่า กรอบเงินเฟ้อ 1-3% ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นช่วงที่เหมาะสมแล้ว และทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้น
"ในการดำเนินการเพื่อให้ไปถึงจุดที่เป็นเป้าหมายร่วมกันนั้น หน้าที่ของ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ก็ต้องดูแลสภาวะเศรษฐกิจ การเงิน ให้เอื้ออำนวยและเหมาะสมในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป การดูแลมาตรการทางการเงิน และการแก้หนี้ ซึ่งเป็นเหมือน policy package ที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมและบรรยากาศทางการเงินที่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพ” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า ธปท.และกระทรวงการคลัง ยังเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่มีใครอยากเห็นภาวะเงินฝืด ในลักษณะที่ว่าเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง แบบในวงกว้าง และมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้น และก็ยังไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี การทำให้เศรษฐกิจฟื้นและขยายตัวเร็วขึ้น แล้วทำให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้น และยังอยู่ในกรอบ 1-3% นั้น เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น และเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจ
“ถ้าอุปสงค์เพิ่มขึ้น จนทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้างในกรอบ แล้วปัจจัยเชิงอุปทาน ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ได้หน่วงจนเงินเฟ้อต่ำ ก็เป็นอะไรที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันว่า เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป็นสิ่งที่ดี และถ้า (เงินเฟ้อ) ขึ้น เพราะเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร” นายปิติ กล่าว
เมื่อถามว่า กระทรวงการคลังตั้งเป้าว่า อยากเห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ค่ากลาง 2% จะทำด้วยวิธีการใดและจำเป็นต้องทำทันทีหรือไม่ นายปิติ กล่าวว่า “เมื่อกรอบใหญ่ 1-3% เป็นแนวทางต่อไปที่เห็นร่วมกัน จะ 2% หรือ 2.5% หรือ1.5% มันก็อยู่ในกรอบทั้งนั้น แต่ประเด็นที่เราถกกัน คือ เงินเฟ้อด้วยตัวมันเองนั้น มันไม่ใช่ตัววัดสูงสุดหรือเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่เงินเฟ้อมีไว้ เพื่อเอื้อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดี เศรษฐกิจไปได้เต็มศักยภาพ
แต่แน่นอนว่า ถ้าเงินเฟ้อสูง 7-8% และผันผวน เศรษฐกิจก็ไม่สามารถไปได้ตามศักยภาพ และถ้าเกิดภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อติดลบในวงกว้าง และเป็นระยะเวลายาวนาน ก็ไม่ส่งเสริมให้ภาวะเศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพเช่นกัน ดังนั้น ตราบใดที่เงินเฟ้ออยู่ในละแวกที่ต่ำ และไม่ได้สร้างปัญหา ก็คิดว่ากรอบเงินเฟ้อที่ 1-3 เป็นช่วงที่พอประมาณ พอเหมาะกับเศรษฐกิจแบบเรา และเอื้ออำนวยต่อการที่เศรษฐกิจขยายตัว
และเมื่อเงินเฟ้อมาจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมค่อนข้างเยอะ ซึ่งจากประสบการณ์ เงินเฟ้อไทย ถ้าแยกเป็นปัจจัยในและนอกประเทศ จะพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งมาจากปัจจัยนอกประเทศ อีกครั้งหนึ่งมาจากปัจจัยในประเทศ ในขณะที่ความผันผวนของเงินเฟ้อนั้น พบว่า 90% ของการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อ มาจากหมวดพลังงานและอาหารสด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่า เป็นปัจจัยด้านอุปทาน และเป็นปัจจัยระยะสั้น ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม
เราจึงไม่อยากปรับนโยบายแบบขึ้นๆลงๆ ที่สร้างความผันผวนของนโยบาย ที่จะไปซ้ำเติมความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงไม่ได้มีตัวเลขค่าใดค่าหนึ่งที่เป็น magic number ในกรอบที่จะได้เป๊ะๆ แต่โดยเฉลี่ยแล้วในระยะปานกลาง เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบนั้น เป็นค่าที่เหมาะสมแล้ว และตราบใดที่เศรษฐกิจสามารถโตได้ มีการลงทุนขยายตัวได้ เงินเฟ้อจะสูงขึ้นหน่อย แต่อยู่ในกรอบ ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ถ้าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้”
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังขอให้ ธปท. ดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ นั้น นายปิติ กล่าวว่า เรื่องค่าเงิน ไม่ใช่เป้าหมายขั้นสูงสุดของใครเลย แต่ก็เป็นตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสภาวะการเงินที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ ฉะนั้น ธปท. ต้องดูแลและติดตามเรื่องค่าเงิน ซึ่งก็ทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องความผันผวนที่อาจจะเกินเลยไปจากปัจจัยพื้นฐาน
ด้าน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขานุการ กนง. กล่าวว่า ธปท.ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลภาระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือมาตรการเพิ่มเติม หากได้ข้อสรุปแล้วจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป
นายสักกะภพ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า การคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ในครั้งนี้ อาจได้คนจากฝ่ายการเมือง และอาจลดความเป็นอิสระของ ธปท. ในอนาคต ว่า “ในแง่โครงสร้างการทำนโยบายการเงิน มีบอร์ดที่ทำนโยบาย 3 บอร์ดหลัก คือ กนง. กนส. (คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน) และกรช. (คณะกรรมการระบบการชำระเงิน) มีลักษณะอำนาจหน้าที่เฉพาะตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภาพใหญ่ในการดำเนินนโยบายการเงิน คงไม่ได้เปลี่ยนไป”
อ่านประกอบ :
'คลัง'รับได้คง'กรอบเงินเฟ้อ'1-3% เท่าเดิม-มอบ'ธปท.'คิดแพ็กเกจหนุน'ลงทุน'ดัน'เศรษฐกิจโต'