‘รมว.คลัง’ หารือ ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ได้สรุปคง ‘กรอบเงินเฟ้อ’ ที่ 1-3% เท่าเดิม พร้อมสั่งการบ้าน ‘ธปท.’ คิดมาตรการสนับสนุน ‘ลงทุน-เศรษฐกิจเติบโต’ หวังดัน 'เงินเฟ้อ' ขยับแตะ 2%
.....................................
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมตรี และรมว.คลัง เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2568 ว่า กระทรวงการคลังและธปท. ตกลงว่าจะกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3% เหมือนเดิม แต่ ธปท.ต้องมีมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนและทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต เช่น นโยบายเรื่องดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการแก้ปัญหาหนี้
“ที่ผ่านมาเราอาจมีปัญหาว่า สภาวะเศรษฐกิจเรา เติบโตไม่สูง แต่ภาครัฐอยากเห็นว่า มันควรจะต้องสูง หากจำกันได้ ก่อนที่รัฐบาลจะมา ตัวเลขอยู่ที่ 1.9-2% แต่ปีนี้ ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ 2.7% บวกลบ ส่วนในปีต่อไป ผมดูว่า ถ้าเรายังเดินตามปกติ ก็น่าจะเห็นตัวเลขประมาณ 3% บวกลบได้ และเมื่อเราเห็นเป้าแล้วว่า เราอยากเห็นเศรษฐกิจเจริญเติบโต และเรื่องนี้ ธปท. ก็เข้าใจในเจตนาและเข้าใจในนโยบายของรัฐบาล
เพราะนโยบายของ ธปท. โดยเฉพาะนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีจุดประสงค์เหมือนกัน และเขียนไว้ชัดเจนว่า จะออกนโยบายทางการเงินเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แล้วยังมีอีกอัน คือ การดูแลค่าอัตราแลกเปลี่ยน โดย กนง.จะต้องพูดคุยกับ ธปท. เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายการเงินและนโยบายทางอัตราแลกเปลี่ยน จะต้องเอื้ออำนวยและสอดคล้องที่จะสนับสนุนนโยบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนเรื่องการกำหนดกรอบเงินเฟ้อนั้น จริงๆแล้ว กรอบเงินเฟ้อมันเป็นปลายเหตุ เพราะของจะถูก จะแพง ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง หากการลงทุนน้อย คนมีรายได้น้อย ไม่มีเงินซื้อ สินค้าก็ขึ้นราคาไม่ได้ เมื่อตรงนี้เป็นปลายเหตุ เราก็ควรมาคุยกันที่ต้นเหตุดีกว่า ฉะนั้น ถ้าจะกำหนดกรอบเงินเฟ้ออย่างไร ผมก็ไม่ว่าอะไร ไม่ว่าจะเป็น 1.5% หรือ 3.5% เพราะมันไม่มีผล ถ้าของจริงออกมาแล้ว มันต่ำกว่า 1% อย่างนี้ ค่าก็เท่ากัน
ดังนั้น สำหรับผมและกระทรวงการคลัง ก็รับได้ ถ้า (กรอบเงินเฟ้อ) ยังอยู่ในกรอบ 1-3% แต่ทั้งนี้ กนง. และธปท. จะต้องมีมาตรการที่จะมาสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เงินเฟ้อไปสู่จุดที่เหมาะสม ใกล้เคียงกับค่ากลาง เช่น 2% เป็นต้น เพราะตอนนี้มันต่ำกว่า 1% ท่านก็ต้องช่วยกำหนดมาตรการอื่นๆ เพื่อทำให้เงินเฟ้อขึ้นมา มีมาตรการที่จะทำให้มันขึ้นไปได้ที่ 2% ซึ่งต้องไปไล่ดูว่า มันคืออะไร ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็ไม่ว่ากัน
แต่แน่นอนว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ต้องการการลงทุน ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ผลักดันอยู่แล้ว โดยปัจจัยที่จะทำให้การลงทุนเกิด และคนอยากลงทุน คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย เมื่อจะกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน ก็ต้องมาดูเรื่องดอกเบี้ยด้วย ดังนั้น ต่อไปไม่ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นหรือจะลง ท่าน (ผู้ว่าฯธปท.) ก็จะรู้ว่าจะสนับสนุนการลงทุนอย่างไรเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ และถ้าจะลงดอกเบี้ย ก็รู้ว่าควรลงอย่างไร
นอกจากนี้ ถ้าอยากให้มีการลงทุน มีการลงดอกเบี้ยแล้ว แต่คนลงทุน คนทำงาน ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เดินเครื่องจักรได้ไม่เต็มที่ เพราะคนลงทุน คนทำงาน โดยเฉพาะในส่วน SMEs ยังเป็นคนเก่า ถ้ายังเป็นคนเก่า ก็ยังมีภาระหนี้เดิมอยู่และยังไม่จบ นโยบายภาครัฐเรื่องหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาหนี้ จึงเรียนให้ท่านผู้ว่าฯทราบว่า วันนี้เราพยายามจะแก้ปัญหาให้ตกผลึก และบูรณาการการทำงานให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์จากนี้
ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้อุปโภคบริโภคได้ โดยให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม พอแก้อันนั้นได้ ก็แปลว่าโอกาสที่คนจะลงทุน จะหาสินเชื่อใหม่ ก็จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดอย่างนี้ขึ้นได้ ก็ทำให้เกิดการลงทุนขึ้นมาได้ และแน่นอนว่า ถ้าอยากให้มีการลงทุน ดอกเบี้ยก็จะลดเอง สภาพคล่องก็มาเอง ส่วนเงินเฟ้ออาจจะสูงขึ้น ราคาสินค้าก็อาจจะแพงขึ้นหน่อย ซึ่งก็รับได้ เพราะที่ผ่านมามันต่ำเกินไปใช่ไหม วันนี้ก็คุยกันลงตัว
อีกอันที่ผมฝาก คือ ภาคการลงทุนบ้านเรา โดยธรรมชาติแล้ว การลงทุนหลายๆอย่างของเรา พึ่งพาตลาดในประเทศ 70% ส่งออก 30% บางอย่างพึ่งพาการส่งออก 50% ก็แปลว่า บ้านเราชอบอัตราแลกเปลี่ยน ไม่อยากจะบอกว่าอ่อน แต่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่แข่ง ต่อให้เราอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ แต่ถ้าคนอื่นอ่อนน้อยกว่า เราก็ไม่ชอบ เราต้องอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้
ดังนั้น ถ้าจะดูเรื่องเงินเฟ้อ มันมีองค์ประกอบที่นำไปสู่เรื่องเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การแก้หนี้ และการกำกับธนาคาร เหล่านี้ต้องดูเป็นแพ็กเกจ ท่าน (ผู้ว่าฯธปท.) ก็จะไปเกลามา แล้วเสนอมา แล้วจะรีบดู รีบเสนอ ครม. ทั้งนี้ มาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินต้องเดินด้วยกัน เราจะไม่พยายามไปคนละทาง พยายามจะให้เห็นปัญหาเดียวกัน เรื่องเดียวกัน คือ อยากเห็นประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ย้ำว่า “กรอบ (เงินเฟ้อ) นี้ เรารับได้ ถ้ามีมาตรการใดๆที่จะมาสนับสนุนการลงทุน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วนำไปซึ่งการทำให้ค่าเงินเฟ้อขึ้นมาอยู่ใกล้เคียง 2% ให้ได้ เพราะถ้าไม่มีมาตรการอื่นๆ ถ้าจะทำให้สูงกว่ากรอบ ก็ทำยาก” พร้อมระบุว่า “เราต้องทำให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.”
เมื่อถามว่า หากต่อไปเงินเฟ้อไปไม่ถึง 2% จะทำอย่างไร นายพิชัย กล่าวว่า “เราเริ่มที่ต้นเหตุก่อน ถ้ามองว่าเศรษฐกิจต้องเติบโต ต้องมีการลงทุน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และแน่นอนว่าสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็น คือ การมีโอกาสที่จะขาย คือ ดีมานด์โตขึ้น ดังนั้น 1.กลุ่มที่เป็นหนี้ครัวเรือนเริ่มลืมตาอ้าปากได้ แก้ปัญหาหนี้ได้ 2.ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และ3.มีมาตรการอื่นๆที่ทำแล้วค่าเงินแข่งขันกับต่างประเทศได้ แล้วเงินเฟ้อจะขึ้นเอง”
นายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายผลักดันการลงทุนหลายเรื่อง โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นการลงทุนที่เข้ามาผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ทยอยเข้ามา และมีข้อเสนอต่างๆมายังรัฐบาล เช่น อยากได้พื้นที่ที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนหนึ่งจะอยู่ในพื้นที่ EEC ,ต้องการใช้พลังงานสีเขียว รวมทั้งมีราคาที่เหมาะสม และการเตรียมความพร้อมในเรื่องคน
และกลุ่มที่สอง เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะการลงทุนระบบโลจิสติกส์และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน