สื่อสวิสตีข่าว Absolute Assembly เอกชนไทย บ.ลูก บมจ.EA รับเงินอุดหนุน รบ.สวิตเซอร์แลนด์ผลิตรถบัสไฟฟ้าฝ่าฝืนสิทธิสหภาพแรงงาน หลังมีเหตุไล่ผู้ก่อตั้งสหภาพออกปีที่แล้ว ใช้ข้ออ้างลาป่วยเยอะเกินไป ขณะ บ. EA ชี้แจงทั้งสองฝ่ายหารือจนได้ทางออกเป็นที่น่าพอใจแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวข้อครหาบริษัทไทยจากต่างประเทศว่าสำนักข่าวสวิสอินโฟจากสวิตเซอร์แลนด์ได้รายงานข่าวกรณีที่รัฐบาลสวิสได้มีการให้เงินทุนสนับสนุนการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าภายในกรุงเทพ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการให้เงินสนับสนุนเป็นครั้งแรก และเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีสเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยสวิตเซอร์แลนด์จะได้รับใบรับรอง CO2 เป็นสิ่งตอบแทน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าบริษัทในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ผลิตรถบัสไฟฟ้า ที่รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสนั้นกำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน
ผู้สื่อข่าวสวิสได้มีการไปพบกับแรงงานไทยคนหนึ่งชื่อว่านายซูที่นอกกรุงเทพ โดยเขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตนเพื่อความปลอดภัย นายซูกล่าวว่าเขามีความหวังกับสหภาพแรงงานที่ตัวเขาได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ โดยเขาต้องการได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพแรงงาน แต่ว่าก็เกิดเรื่องในวันประชุมขึ้น
นายซูกล่าวว่าวันนั้นเขาถูกเรียกไปที่ห้องหัวหน้า และหัวหน้างานกล่าวว่าการจ้างงานของเขาสิ้นสุดลงแล้ว และเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าบริษัทอีกต่อไป โดยข้ออ้างของการเลิกจ้างงานนั้น หัวหน้ากล่าวว่าเพราะเขาป่วยบ่อยเกินไป แต่นายซูเชื่อว่าบริษัท Absolute Assembly ต้องการกำจัดเขา เพราะไม่นานหลังจากนั้นผู้ก่อตั้งสหภาพคนที่สองก็ถูกไล่ออกเช่นกัน
นายเดวิด เวลช์ จากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ชื่อว่า Solidarity Center กล่าวแสดงความผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ต่อกรณีที่ว่าทางบริษัทไม่มีการพูดคุยหารืออย่างจริงจังกับทางฝ่ายสหภาพ แต่กลับใช้วิธีการไล่ผู้นำฝ่ายสหภาพออกและเสนอว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อลูกจ้างหากไม่เข้าร่วมสหภาพ
ทางด้านของสมาคมแรงงานเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์แห่งประเทศไทย (TEAM) ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่าปัจจุบันสหภาพมีอำนาจต่อรองที่ต่ำมากเพราะมีสมาชิกน้อยเกินไป มีเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกดั้งเดิมเท่านั้นที่ยังอยู่ในสหภาพ
อนึ่งบริษัทแม่ของของบริษัท Absolute Assembly ได้แก่บริษัท บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้มีการเขียนจดหมายตอบโต้ข้อกล่าวหาไปแล้วระบุว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของประเทศไทยและดำเนินการตามสิทธิของพนักงานในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ได้รับการคุ้มครอง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือกันจนหาทางออกอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้แล้ว
ทางด้านของนายจอร์จ ลอยเทอร์ต (Georg Leutert) จากสมาคมสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ IndustriALL Global Union กล่าวว่าตัวเขาไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ และตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว พวกเขาได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลสวิสเข้าไปแทรกแซงบริษัทนายจ้างไทย ซึ่งท่าทีตอบสนองของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ก็น่าจะมาจากแรงกดดันที่มาจากนานาชาติเท่านั้น
“น่าเสียดายที่นักลงทุนต่างชาติมักไม่ดูในประเด็นเรื่องสิทธิของพนักงานและสหภาพแรงงานอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะออกเงินทุน” นายลอยเทอร์ตกล่าว
อนึ่งภายใต้ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีส บริษัทพันธมิตรต่างประเทศเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับรองว่ามาตรฐานแรงงานได้รับการปฏิบัติตาม
เรียบเรียงจาก:https://www.swissinfo.ch/eng/climate-change/swiss-funded-thai-climate-project-accused-of-labour-abuse/87795858