‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายกฟ้อง คดี ‘บช.น.’ตัดสิทธิ์ผู้สมัคร ‘นักเรียนนายสิบตำรวจ’ ไม่ผ่านการตรวจร่ายกาย หลังพบมี ‘รอยสัก’ ที่ยังเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าจะเข้ารับการลบรอยสักแล้ว
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ผู้สมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รายหนึ่ง (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีออกประกาศฯ ให้ผู้สมัครรายนี้เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติในการประกาศรับสมัครเพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบ พ.ศ.2559 เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจร่างกาย เพราะมีรอยสักขนาดใหญ่ที่หน้าอกข้างซ้าย ที่ไหล่ ต้นแขนซ้าย และที่หลัง แม้ว่าผู้สมัครรายดังกล่าวได้เข้ารับการลบรอยสักด้วยการทำเลเซอร์แล้ว
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องในคดีนี้ เนื่องจากในวันตรวจร่างกายนั้น แม้ว่าผู้สมัครฯรายนี้ จะเข้ารับการลบรอยสักมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2558 จนถึงวันสอบสัมภาษณ์รวม 13 ครั้ง และผลจากการรักษาจะทำให้รอยสักจางลง แต่ก็ยังสามารถมองเห็นได้ว่า ผิวหนังบริเวณดังกล่าวผ่านการสักมาก่อน กับทั้งยังปรากฏร่องรอยของลายสัก และมีแผลอันเกิดจากการลบรอยสักที่เห็นได้อย่างชัดเจน
จึงถือว่าในวันเข้าตรวจร่างกายของผู้สมัครฯ มีรอยสักหรือรอยที่เกิดจากการลบรอยสักบริเวณต้นแขนซ้ายและบริเวณแผ่นหลังขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง (13) ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจพ.ศ.2547 และตามข้อ 16 ของผนวก ก. ท้ายประกาศ บน.ช. เรื่อง รับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559
“…ผู้ถูกฟ้องคดี ได้มีประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่อง รับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559 (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560) ลงวันที่ 4 พ.ย.2559 จำนวน 1,000 อัตรา โดยข้อ 2 ของประกาศดังกล่าวได้กำหนดคุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง ดังนี้
2.1... 2.4 มีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามผนวก ก. และผนวก ข. ท้ายประกาศนี้... โดยผนวก ก. ท้ายประกาศ กำหนดว่า ผู้สมัครสอบที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด ดังนี้ 16. ไม่เป็นผู้มีแผลเป็นไฝ ปาน รอยสัก หูด หรือชีสต์ ที่ส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งมีขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎดังกล่าวข้างต้น
ผู้ที่จะบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งลักษณะต้องห้ามประการหนึ่ง คือ ผู้นั้นจะต้องไม่เป็นผู้มีแผลเป็น ไฝ ปาน รอยสัก หูด หรือซีสต์ ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมีขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด
กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเบื้องต้นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีรอยสักอักขระบริเวณกึ่งกลางระหว่างกระดูกสะบักทั้งสองข้าง ขนาดกว้างประมาณต้นคอของผู้ฟ้องคดี และยาวตั้งแต่บ่าลงมาจนเกือบถึงกลางหลัง มีรอยสักรูปมังกรบนพื้นวงกลมเต็มหน้าอกข้างซ้ายเชื่อมต่อกับรอยสักที่แขนซ้ายซึ่งมีความยาวตั้งแต่บ่าลงมาจนถึงเหนือข้อศอก ถือว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีรอยสักขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียดหรือไม่
เห็นว่า ตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง (13) ของ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ จะต้องไม่เป็นผู้มีแผลเป็น ไฝ ปาน รอยสัก หูด หรือชีสซีสต์ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมีขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียดนั้น
หมายถึง แผลเป็น ไฝ ปานรอยสัก หูด หรือซีสต์ที่ส่วนต่างๆของร่างกาย มิใช่เฉพาะที่มองเห็นด้วยตาที่อยู่นอกร่มผ้าเท่านั้น แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่มีเสื้อหรือกางเกง รองเท้าหรือหมวกปิดบังอยู่ แต่ถ้าเมื่อถอดสิ่งปิดกั้นเหล่านั้นออกแล้วเห็นได้ว่า สิ่งต้องห้ามนั้นมีขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด ก็ถือได้ว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามมิให้ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงตามบันทึกผลการสอบสัมภาษณ์ ลงวันที่ 21 ธ.ค.2559 ใบรับรองแพทย์พร้อมภาพถ่ายการรักษารอยสักที่ผู้ฟ้องคดีได้มอบให้แก่คณะกรรมการแพทย์ในวันที่ 23 ธ.ค.2559 ซึ่งเป็นวันตรวจร่างกาย ประกอบกับภาพถ่ายรอยสักของผู้ฟ้องคดีในการสอบสัมภาษณ์ (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2560 ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีมีรอยสักอักขระบริเวณกึ่งกลางระหว่างกระดูกสะบักทั้งสองข้างขนาดกว้างประมาณต้นคอของผู้ฟ้องคดี และยาวตั้งแต่บ่าลงมาจนเกือบถึงกลางหลัง มีรอยสักรูปมังกรบนพื้นวงถลมเต็มหน้าอกข้างซ้าย เชื่อมต่อกับรอยสักที่แขนซ้าย ซึ่งมีความยาวตั้งแต่บ่าลงมาจนถึงเหนือข้อศอก
การที่ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการลบรอยสักมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2558 จนถึงวันสอบสัมภาษณ์รวม 13 ครั้ง แม้ผลจากการรักษาจะทำให้รอยสักจางลง แต่ก็ยังสามารถมองเห็นได้ว่า ผิวหนังบริเวณดังกล่าวผ่านการสักมาก่อน กับทั้งยังปรากฎร่องรอยของลายสักและมีแผลอันเกิดจากการลบรอยสักที่เห็นได้อย่างชัดเจน
แม้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีใบรับรองแพทย์ของสถาบันโรคผิวหนังว่า ผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับการรักษาด้วยการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการรักษาติดตามอาการและนัดเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ภาพถ่ายในวันที่ 23 ม.ค.2560 ยังมองเห็นรอยสักหรือรอยลบรอยสักบริเวณหน้าอกซ้าย ไหล่ซ้ายและบริเวณแผ่นหลังได้ชัดเจนอยู่
จึงถือว่าในวันเข้าตรวจร่างกายตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 ธ.คง2559 ผู้ฟ้องคดีมีรอยสักหรือรอยที่เกิดจากการลบรอยสักบริเวณต้นแขนซ้ายและบริเวณแผ่นหลังขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง (13) ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจพ.ศ.2547
และตามข้อ 16 ของผนวก ก. ท้ายประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่อง รับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559 (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560) ลงวันที่ 4 พ.ย.2559 ประกอบกับมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
อย่างไรก็ตาม หากต่อมาภายหลังปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการรักษาหรือแก้ไข จนกระทั่งรอยสักไม่มีสภาพอันเข้าลักษณะต้องห้ามตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง (13) ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 ผู้ฟ้องคดีก็ย่อมมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกใหม่ เป็นข้าราชการตำรวจตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจได้
ดังนั้น การที่คณะกรรมการแพทย์โรงพยาบาลตำรวจตามประกาศรับสมัครฯ ของผู้ถูกฟ้องคดี มีมติให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ไม่ผ่านการตรวจร่างกายเพราะมีรอยสักขนาดใหญ่ที่หน้าอกซ้าย ไหล่ซ้าย และบริเวณแผ่นหลัง ถือว่าเป็นผู้มีรอยสักขนาดใหญ่หรือมากจนแลดูน่าเกลียด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบ และไม่ถือเป็นการตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีในการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเรียงตามลำดับจำนจำนวนอัตราที่เปิดรับและผู้ได้รับเลือกสำรองเรียงตามลำดับคะแนน ในการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559 หรือประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ลงวันที่ 30 ม.ค.2560 ให้ผู้ฟ้องคดีมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศรับสมัคร หรือไม่ผ่านการตรวจร่างกายฯของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเรียงตามลำดับจำนวนอัตราที่เปิดรับและผู้ได้รับคัดเลือกสำรองเรียงตามลำดับคะแนน ในการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559 (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560) ลงวันที่ 30 ม.ค.2560
เฉพาะชื่อผู้ฟ้องคดีในผนวก ค. ท้ายประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลงวันที่ 30 ม.ค.2560 รายชื่อผู้มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศรับสมัคร ในการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอก ผู้มีวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า เพื่อบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ พ.ศ.2559 หน่วยสอบ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการคืนสิทธิในฐานะผู้สมัครสอบที่ผ่านการสอบข้อเขียนผ่านการทดสอบความเหมาะสมกับตำแหน่งและผ่านการตรวจร่างกาย โดยให้ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการฝึกอบรมในโอกาสแรกที่มีการฝึกอบรม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีถือปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ในฐานะเป็นผู้สอบคัดเลือกได้และมีสิทธิเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อบ.198/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อบ. 107/2567 ลงวันที่ 31 พ.ค.2567 ระบุ