เผยมติ ป.ป.ช. ตีตกคดี 'ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร' ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ให้สัมภาษณ์สื่อแฉนายพล บิ๊ก ป. ปลา ล็อบบี้ลงมติผ่านงบประมาณกองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น เห็นว่าการกระทำมีลักษณะไม่ร้ายแรง เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป - กรรมการ 1 เสียง เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับนายพล บิ๊ก ป. ปลา โทรมาสั่งให้นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการ ลงมติอีก 1 เสียง ให้รัฐบาลผ่านงบประมาณกองทัพเรือในการซื้อเรือดำน้ำ แบบไม่สุจริตและถูกสั่งการลงมา
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกล่าวหามีลักษณะไม่ร้ายแรงตามมาตรฐานจริยธรรมฯ เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT และรัฐวิสาหกิจ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน สรุปได้ว่า "มีนายพลเป็น บิ๊ก ป. ปลา โทรมาสั่งให้นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการฯ ลงมติอีก 1 เสียง ให้รัฐบาลผ่านงบประมาณกองทัพเรือในการซื้อเรือดำน้ำ แบบไม่สุจริตและถูกสั่งการลงมา" ซึ่งคำกล่าวของผู้ถูกกล่าวหา มีลักษณะเป็นการกล่าวหาและพาดพิงบุคคลอื่นว่า กระทำการไม่สุจริต เพื่อหวังผลทางการเมือง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือให้ข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชน เข้าข่ายเป็นความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่รองประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ได้เข้าร่วมในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ครั้งที่ 16/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณารายการงบผูกพันโครงการจัดหาเรือดำน้ำตามคำของบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกองทัพเรือ และมีมติเห็นชอบตามคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564 (เรือดำน้ำ) โดยอนุกรรมาธิการลงคะแนนเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบจำนวนคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น นายสุพล ฟองงาม ซึ่งทำหน้าที่ประธานอนุกรรมาธิการในการประชุมดังกล่าวจึงได้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 79 วรรคสอง โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ลงคะแนนเสียงอยู่ในฝ่ายอนุกรรมาธิการที่ไม่เห็นชอบตามคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564 (เรือดำน้ำ) โดยภายหลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการได้มีมติเห็นชอบตามคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564 (เรือดำน้ำ) ผู้ถูกกล่าวหาได้ออกมาแถลงข่าวที่จุดแถลงข่าวรัฐสภา เกี่ยวกับมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ กรณีพิจารณาคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564 (เรือดำน้ำ) และรายชื่ออนุกรรมาธิการที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบตามคำของบประมาณปี พ.ศ. 2564 (เรือดำน้ำ)
ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ว่า นายยุทธพงศ์ฯ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ได้เปิดเผยว่า ทางอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ โดยนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ จะเข้ารายงานการพิจารณางบจัดซื้อเรือดำน้ำ จากประเทศจีน ของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ต่อกมธ.งบประมาณชุดใหญ่ ให้พิจารณาในวันที่ 26 ส.ค. เวลา 13.00 โดยตนในฐานะที่เป็นโฆษก กมธ.งบชุดใหญ่ จะขอให้ กมธ.ฯ พิจารณาทบทวนมติใหม่ เพราะการลงคะแนน ในที่ประชุมอนุกมธ.เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา คะแนนออกมาเท่ากัน 4 ต่อ 4 แต่ประธานอนุกมธ. กลับลงคะแนนด้วย เพราะความจริงแล้ว ประธานอนุกมธ. ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่มติช่วยฝั่งรัฐบาล ตนนั่งเป็นรองประธานอยู่ข้างๆ นายสุพล ทราบว่า มีคนในรัฐบาลระดับนายพล เป็นบิ๊ก ป. โทรศัพท์มาสั่งให้นายสุพล ลงมติอีกเสียงหนึ่งให้กับฝั่งรัฐบาล เพราะโดยปกติแล้ว หากคะแนนเท่ากันตัดสินไม่ได้ ก็ต้องเสนอให้ กมธ.ชุดใหญ่ เป็นผู้พิจารณาก็จบ นายยุทธพงศ์ฯ กล่าวต่อว่า เชื่อว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ในกมธ. ต้องคิดถึงประชาชนต้องมาก่อนเรือดำน้ำ ถ้าไม่ซื้อเรือก็ไม่มีใครตายสักคน แต่ตอนนี้ประชาชนกำลังฆ่าตัวตายเยอะ เพราะปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำ ตนก็จะได้เชิญชวนประชาชนออกไปเดินขบวนไล่รัฐบาล จะรอดูว่านายกฯ ไทยจะรักประชาชนคนไทยหรือรักเรือดำน้ำของจีน 2 ลำ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่านายสุพลฯ ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลใดในการประชุมครั้งดังกล่าว และบิ๊ก ป. คือบุคคลใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกล่าวหามีลักษณะไม่ร้ายแรงตามมาตรฐานจริยธรรมฯ เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป โดยส่งคำกล่าวหาและสำเนาเอกสารประกอบคำกล่าวหา ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563
ฝ่ายเสียงข้างน้อย จำนวน 1 เสียง เห็นควรแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป ตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 72
ที่ประชุมจึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่า เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป โดยส่งคำกล่าวหาและสำเนาเอกสารประกอบคำกล่าวหา ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563