ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ลงโทษ 'คิม ไชยแสนสุข' อดีตรองอธิการบดี ม.รามคำแหง ออกจากราชการ เหตุพฤติการณ์ไม่อาจฟังได้ว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ 3 อดีตผู้บริหาร 'รังสรรค์ -รำไพ-โฆษิต' มติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่พิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ 54/2554 ลงวันที่ 8 ก.พ.2554 ที่ลงโทษ นายคิม ไชยแสนสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่ง และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ นายคิม ไชยแสนสุข เนื่องจากเห็นเป็นกรณีที่ยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายรังสรรค์ แสงสุข นางรำไพ สิริมนกุล และนายโฆษิต อินทวงศ์ ได้รับเงินเดือนค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการและค่าตอบแทนโดยมิควรได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
ขณะที่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลว่า นายคิม ไชยแสนสุข กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 39 วรรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายคิม ไชยแสนสุข เป็นผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ , คณะอนุกรรมการไต่สวน , เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา , คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณทำหน้าที่แทน ก.พ.อ. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 , 2 , 3 , 4 และ 5 ตามลำดับ
คำพิพากษาระบุว่า ขณะเกิดเหตุที่พิพาท นายรังสรรค์ แสงสุข ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 10 ในสังกัดคณะนิติศาสตร์ นางรำไพ สิริมนกุล ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 9 ในสังกัดคณะรัฐศาสตร์ ส่วนนายโฆษิต อินทวงศ์ ดำรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ในสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ โดยบุคคลดังกล่าวได้รับการบรรจุและ
แต่งตั้งให้รับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
นอกจากนี้ นายรังสรรค์ แสงสุข ยังดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ส่วนนางรำไพ สิริมนกุล ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และนายโฆษิต อินทวงศ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงรองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษา บุคคลทั้งสามดังกล่าวจึงดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหาร
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว นายคิม ไชยแสนสุข ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงฝ่ายบริหาร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมการขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้ฟ้องคดีได้เข้าร่วมประชุมคระกรรมการชุดดังกล่าวเพื่อพิจารณา ผู้ผ่านการประเมินและมีความเหมาะสม และเห็นว่า ผู้ที่ยื่นขอขยายเวลาที่ผ่านการพิจารณาประเมินถูกต้องมีความเหมาะสมตรงตามหลักเกณฑ์การขยายเวลาราชการฯ เพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไป จนถึงสิ้นปีงบประมาณเมื่ออายุ 65 ปี บริบูรณ์ รวม 20 ราย รวมทั้งนายรังสรรค์ แสงสุข นางรำไพ สิริมนกุล และนายโฆษิต อินทวงศ์ และมีมติมอบกองการเจ้าหน้าที่ดำเนินการเสนอสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงพิจารณาอนุมัติขยายเวลาให้ข้าราชการรับราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไป
ต่อมา ได้มีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุม ครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2548 โดยผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมประชุมและมีมติเห็นชอบอนุมัติให้ขยายเวลาให้ข้าราชการรับราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือทำวิจัยต่อไป จนถึงสิ้นปีงบประมาณเมื่ออายุครบ 65 ปี บริบูรณ์ รวมทั้งสิ้น 20 ราย
ศาลฯ เห็นว่า การขยายระยะเวลาให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์หรือระดับรองศาสตราจารย์ เมื่อครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในสิ้นปีงบประมาณ 2547 ให้รับราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไป ย่อมต้องพิจารณาตามมาตรา 19 มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกอบกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แจ้งตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ด่วนมาก ที่ ศธ 0509.5/ว 1 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 เรื่อง การขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายและหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่ากรณีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการและในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารด้วย จะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับการขยายเวลาราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไปจนถึงสิ้นปิ้งบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ได้หรือไม่ คงกำหนดไว้แต่หลักเกณฑ์ คุณสมบัติ วิธีการ และเงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาราชการไว้เท่านั้น จึงมีกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเกิดปัญหาในการปรับใช้บทกฎหมายและหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นว่าผู้ที่ได้รับการขยายเวลาราชการจนถึงอายุหกสิบห้าปี ซึ่งได้ทำหน้าที่สอนหรือวิจัยโดยปฏิบัติงานตามมาตรรฐานภาระงานวิชาการตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะสามารถดำรงตำแหน่งทางบริหารได้หรือไม่
ดังนั้น การพิจารณาขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในขณะเกิดเหตุพิพาทจึงเป็นอำนาจดุลพินิจของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งที่จะพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในขณะนั้นมิใช่อำนาจที่ผู้ฟ้องคดีจะสามารถพิจารณาได้โดยลำพัง
คำพิพากษา ระบุว่า การที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงฝ่ายบริหาร ได้เสนอเรื่องขยายระยะเวลารับราชการ ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อพิจารณาเสนอ อ.ก.ม.มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้ฟ้องคดีได้ร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 และได้ร่วมลงมติเห็นชอบให้ขยายเวลาให้ข้าราชการรับราชการเพื่อทำหน้าที่สอนหรือวิจัยต่อไปจนถึงสิ้นปิ้งบประมาณเมื่ออายุ 65 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งสิ้น 20 ราย ซึ่งมีนายรังสรรค์ แสงสุข นางรำไพ สิริมนกุล และนายโฆษิต อินทวงศ์ รวมอยู่ด้วย จึงเป็นการพิจารณาดำเนินการไปตามมาตรา 15 ประกอบมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกอบหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ด่วนมาก ที่ ศธ 0509.5/ว 1 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 และหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงกำหนด ซึ่งแม้การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ได้มีการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นก่อน และปรากฏว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ตอบข้อหารือของมหาวิทยาลัยอื่น และในเวลาต่อมาตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 522/2548 และเรื่องเสร็จที่ 119/2549 ว่าข้าราชการพลเรือนสถาบันอุดมศึกษาซึ่งได้รับการขยายเวลาราชการไม่อาจทำหน้าที่บริหารได้ก็ตาม
แต่การดำเนินการดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีกับพวก และสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการดำเนินการก่อนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ ศธ 0509.6 (2.5)/4046 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 แจ้งความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้สถาบันอุดมศึกษาถือปฏิบัติ และเมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับทราบความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นปัญหาดังกล่าว ก็ได้มีคำสั่ง ยกเลิกขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2547 เฉพาะรายนายรังสรรค์ แสงสุข นางรำไพ สิริมนกุล และนายโฆษิต อินทวงศ์ ในทันที
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีกับพวก จึงยังไม่อาจฟังได้ว่ามีเจตนาฝ้าฝืนกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ให้แก่นายรังสรรค์ แสงสุข นางรำไพ สิริมนกุล และนายโฆษิต อินทวงศ์ แต่อย่างใด แต่กรณีเป็นเพียงปัญหาการตีความกฎหมายเกี่ยวกับผู้มีสิทธิต่อเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น
ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมการขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในการพิจารณาเพื่อประเมินความเหมาะสมการขยายเวลาข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เสนอเรื่องขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขออนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งการร่วมพิจารณามีมติในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขยายเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษารายนายรังสรรค์ แสงสุข นางรำไพ สิริมนกุล และนายโฆษิต อินทวงศ์ อันเป็นการร่วมพิจารณาในฐานะองค์กรกลุ่ม มิใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาปกครองแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับข้อเท็จจริงในคดีไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมใดๆ ที่ผิดปกติไปจากกรรมการรายอื่นที่ร่วมทำการพิจารณาทางปกครองอย่างมีนัยยะสำคัญและปรากฏชัดแจ้งถึงขั้นอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง
กรณีจึงยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลทั้งสามดังกล่าวให้ได้รับเงินเดือนค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการและค่าตอบแทนโดยมิควรได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
คำพิพากษา ระบุด้วยว่า ส่วนกรณีผู้ได้รับการต่ออายุราชการเป็นผู้มีตำแหน่งบริหารอยู่ด้วยจะได้รับเงินเดือน ผลประโยชน์จากเงินประจำตำแหน่ง และเงินบำเหน็จบำนานาญเพิ่มขึ้มขึ้นจะถือเป็นการกระทำโดยทจริตหรือไม่ นั้น การได้รับเงินดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่เกิดจากการอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายการได้รับเงินดังกล่าวจากการทำงาน จึงไม่อาจฟังว่าเป็นผลจากการกระทำโดยทุจริต
@ คิม ไชยแสนสุข
คำพิพากษา ระบุอีกว่า เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 192 - 27/2553 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ที่ชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 39 วรรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประกอบกับเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ 54/2554 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ลงโทษผู้ฟ้องคดีในความผิดทางวินัยฐานอื่น ได้แก่ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ 54/2554 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยอาศัยมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ 54/2554 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่ง และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขออื่นให้ยก โดยมีข้อสังเกตเพื่อเป็นแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการเพื่อให้มีการคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีควรได้รับหากมิได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ภายใน 60 วัน นับแต่คำแคำพิพากษาถึงที่สุด นั้น
ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง