เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกคดี รศ.คิม ไชยแสนสุข อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีถูกกล่าวหามีหนังสือชี้แจงการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนต่อผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า กระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา รองศาสตราจารย์ คิม ไชยแสนสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีมีหนังสือชี้แจงการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนต่อผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า ผู้กล่าวหาได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ร้องขอความเป็นธรรม กรณีไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งผลการพิจารณาว่าได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้วผลปรากฏตามเอกสารที่สงมาด้วย ซึ่งปรากฏว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหนังสือที่ ศธ 0518.01/6693 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ลงนามโดยผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้แจงไปยังนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โดยแจ้งสาเหตุที่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้กล่าวหาในรอบการพิจารณา 1 เมษายน 2547 ถึง 30 กันยายน 2547 ว่า "มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนบุคลากรที่อุทิศเวลาให้แก่ราชการ พ.ศ. 2546 ประกอบการพิจารณาตามข้อ 4 ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้ที่จะได้รับเงินอุดหนุนบุคลากรต้องมีคุณสมบัติปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มหาวิทยาลัยจึงได้นำมาพิจารณารายละเอียดประกอบเป็นหลักการทุกคน ปรากฏว่าเลขานุการบัณฑิตวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหา แจ้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าให้ระงับการจ่ายเงินอุดหนุนของผู้กล่าวหา ในปีงบประมาณ 2547 เมื่อผู้กล่าวหาไม่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนบุคลากรในรอบปีงบประมาณ 2547 ย่อมหมายความว่าการปฏิบัติหน้าที่ในรอบปีครึ่งหลังที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2547 ผู้กล่าวหา ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความก้าวหน้าแก่ราชการ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้กล่าาหา"
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้กล่าวหาได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ร้องขอความเป็นธรรม กรณีไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งผลการพิจารณาว่าได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้วผลปรากฏตามเอกสารที่สงมาด้วย ซึ่งปรากฏว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหนังสือที่ ศธ 0518.01/6693 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ลงนามโดยผู้ถูกกล่าวหา ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้แจงไปยังนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยแจ้งสาเหตุที่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้
ผู้กล่าวหาในรอบการพิจารณา 1 เมษายน 2547 ถึง 30 กันยายน 2547 ว่า "มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนบุคลากรที่อุทิศเวลาให้แก่ราชการ พ.ศ. 2546 ประกอบการพิจารณาตามข้อ 4 ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้ที่จะได้รับเงินอุดหนุนบุคลากรต้องมีคุณสมบัติปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มหาวิทยาลัยจึงได้นำมาพิจารณารายละเอียดประกอบเป็นหลักการทุกคน ปรากฏว่าเลขานุการบัณฑิตวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหาแจ้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าให้ระงับการจ่ายเงินอุดหนุนของผู้กล่าวหาในปีงบประมาณ 2547 เมื่อผู้กล่าวหา ไม่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนบุคลากรในรอบปีงบประมาณ 2547 ย่อมหมายความว่าการปฏิบัติหน้าที่ในรอบปีครึ่งหลังที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2547 ผู้กล่าวหา ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความก้าวหน้าแก่ราชการ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้กล่าววหา"
โดยสาเหตุที่มีการระงับเนื่องจาก เลขานุการบัณฑิตวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหา แจ้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าให้ระงับการจ่ายเงินอุดหนุนของผู้กล่าวหา คณะกรรมการจึงระงับตามเสนอ เพื่อตรวจสอบ จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจากเลขานุการบัณฑิตวิทยาลัยถึงเหตุผลดังกล่าวเนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่จะนำมาพิจารณาประกอบ โดยในระหว่างการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีหนังสือไปยังอธิบดีกรมบัญชีกลางเพื่อขอกันเงินสำหรับเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้กล่าวหา ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ซึ่งภายหลังนายเสริมศักดิ์ ประสารแสง เลขานุการบัณฑิตวิทยาลัย ได้แจ้งไปยังผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ว่าตามที่ได้ขอให้ระงับการจ่ายเงินอุดหนุนแก่บุคลากรที่อุทิศเวลาให้แก่ราชการ กรณีของผู้กล่าวหา นั้น
บัดนี้ การตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วและเห็นว่ากรณีที่มีข้อมูลว่า ผู้กล่าวหา มีพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัย นั้น ปรากฏว่า ผู้กล่าวหา เป็นเพียงแนวร่วมเท่านั้น ส่วนที่มีข้อมูลว่าใช้เวลาของทางราชการนั้น ตรวจสอบแล้วยังไม่ปรากฏแน่ชัด เห็นควรพิจารณาให้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่บุคลากรที่อุทิศเวลาให้แก่ราชการให้แก่ผู้กล่าวหา ต่อไป และต่อมามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เลื่อนขั้นเงินเดือนรวมทั้งปี 2 ชั้น ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2547 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่มีหนังสือชี้แจงดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้กล่าวหามีหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และมีการสั่งการมาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ชี้แจง กองการเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงมีหนังสือให้ผู้กล่าวหาลงนามชี้แจงตามอำนาจหน้าที่และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น ซึ่งเป็นการเสนอเรื่องตามลำดับชั้นการบังคับบัญชามีเพียงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทราบเรื่อง มิใช่เป็นการประกาศให้ทราบทั่วไป นอกจากนี้การระงับการจ่ายเงินอุดหนุนของผู้กล่าวหาเป็นการเสนอมาโดยผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหา
คณะกรรมการจึงระงับตามเสนอ เพื่อตรวจสอบจนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจากเลขานุการบัณฑิตวิทยาลัยถึงเหตุผลดังกล่าวเนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่จะนำมาพิจารณาประกอบ มิใช่เป็นคำสั่งของผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในคดีอาญาที่ผู้กล่าวหาฟ้องเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้กล่าวหาว่าร่วมกันกลั่นแกล้งผู้กล่าวหา โดยไม่ได้ประเมินผลงานของผู้กล่าวหา ไม่อนุมัติเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีงบประมาณ 2547 ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้กล่าวหา ศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้อง จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้กล่าวหาได้รับความอับอายและถูกเพื่อนร่วมงานดูถูกและเหยียดหยามว่าเป็นคนไม่ดีและเสียสุขภาพจิตอย่างไร
องค์คณะพนักงานไต่สวนได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การมีหนังสือชี้แจงดังกล่าวของรองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข ผู้ถูกกล่าวหา ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏและไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด จึงไม่มีมูลตามที่กล่าวหา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกอบ มาตรา 192 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นขององค์คณะพนักงานไต่สวน ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป