‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษากลับยกฟ้อง คดีสมาชิก ‘สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น’ ฟ้อง ‘กรมส่งเสริมสหกรณ์-กรมตรวจบัญชีสหกรณ์’ เรียกชดใช้สินไหมฯ 3.1 ล้าน ปมละเลยหน้าที่ปล่อยให้ ‘ผู้บริหารสหกรณ์ฯ’ กระทำทุจริต จนสร้างความเสียหายให้สมาชิกฯ ศาลฯชี้ไม่ได้ละเลยหน้าที่-'ผู้ฟ้องคดี' มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด รายหนึ่ง (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2) กรณีละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ได้กำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุม ตรวจสอบ ดูแลการบริหารงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด
โดยปล่อยให้ผู้บริหารหรือคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการทุจริตหรือทำผิดต่อกฎหมายฯ จนสร้างความเสียหายแก่สหกรณ์และสมาชิก และทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถถอนเงินหุ้นและเบิกเงินฝากในสหกรณ์ฯได้เป็นเงินรวม 3.1 ล้านบาท จึงขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชดใช้สินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี จำนวน 3.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ เนื่องจากพิจารณาแล้ว เห็นว่า นายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์) มีอำนาจเพียงกำกับดูแลสหกรณ์ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 เท่านั้น และไม่อาจถือได้ว่านายทะเบียนสหกรณ์ฯ ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าพอสมควร
อีกทั้งเมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2555 จึงย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหกรณ์ และร่วมลงมติในการประชุมทุกครั้ง และย่อมมีโอกาสตรวจสอบกิจการของสหกรณ์และผลการดำเนินงานในรอบปีแต่ละปีว่า มีรายการทรัพย์สินและหนี้สินจำนวนเท่าใด รวมทั้งมีโอกาสสอบถามคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา และยังมีสิทธิแสดงความเห็นต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำการดังกล่าว ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการที่ไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในสหกรณ์ฯได้ จึงเกิดจากการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์ และการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ และผู้จัดการสหกรณ์ฯ ซึ่งคัดเลือกโดยมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหกรณ์ เมื่อได้พิจารณารายละเอียดของการกระทำ อันเป็นเหตุให้สหกรณ์ฯ ต้องเสียหายจนถึงขนาดต้องตกเป็นนิติบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้ฟ้องคดี ก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย
“...จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์) ซึ่งมีหน้าที่เพียงกำกับดูแลให้สหกรณ์ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้ทำตามหน้าที่พอสมควร ในฐานะผู้กำกับดูแลสหกณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี หรือการแต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์
การออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของสหกรณ์ หรือการออกคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชั่วคราวขึ้นบริหารงานแทน
แม้การดำเนินการของนายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด อาจมีการดำเนินการโดยล่าช้าอยู่บ้าง แต่กรณียังไม่อาจได้ว่านายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายงดการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ในการกำกับดูแลกิจการของสหกรณ์ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในประเด็นนี้จึงขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อได้พิจารณามาแล้วว่า นายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลสหกรณ์ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 เท่านั้น และไม่อาจถือได้ว่านายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
และโดยที่นายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง มิใช่ผู้รับฝากเงินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ แต่เป็นหน้าที่ของสหกรณ์
ดังนั้น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งเป็นรับฝากเงินจากสมาชิก จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้ครบจำนวนตามที่ตนรับฝากไว้ ทั้งนี้ ตามสัญญาฝากทรัพย์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับการดำเนินงานของสหกรณ์ ได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิก ให้ทำหน้าที่ดูแลการบริหารของสหกรณ์
อีกทั้งมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 บัญญัติ ให้สหกรณ์มีผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก เพื่อดำเนินการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ แล้วทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สหกรณ์จัดทำงบดุลอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือน อันจัดว่าเป็นรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์
วรรคสอง งบดุลนั้นต้องมีรายการแสดงสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของสหกรณ์ กับทั้งบัญชีกำไรขาดทุนตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด วรรคสาม งบดุลนั้นต้องทำให้แล้วเสร็จ และให้ผู้สอบบัญชีตชีตรวจสอบ แล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
มาตรา 67 บัญญัติให้สหกรณ์จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณา มาตรา 68 บัญญัติให้สหกรณ์เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินสหกรณ์ไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้
เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นสมาชิกสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2555 ผู้ฟ้องคดี จึงย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหกรณ์ และร่วมลงมติในการประชุมทุกครั้ง และย่อมมีโอกาสตรวจสอบกิจการของสหกรณ์และผลการดำเนินงานในรอบปีแต่ละปีว่า มีรายการทรัพย์สินและหนี้สินจำนวนเท่าใด รวมทั้งมีโอกาสสอบถามคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา และยังมีสิทธิแสดงความเห็นต่อผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้กระทำการดังกล่าว ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการที่ไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในสหกรณ์ฯได้ จึงเกิดจากการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์ และการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ และผู้จัดการสหกรณ์ฯ ซึ่งคัดเลือกโดยมติที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหกรณ์
เมื่อได้พิจารณารายละเอียดของการกระทำ อันเป็นเหตุให้สหกรณ์ฯต้องเสียหาย จนถึงขนาดต้องตกเป็นนิติบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้ฟ้องคดีก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย ดังนั้น ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นผลโดยตรงมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่านายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์) กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของนายทะเบียนสหกรณ์หรือผู้ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย จึงไม่ต้องรับผิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากในสหกรณ์ฯ ได้
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า นายทะเบียนสหกรณ์ได้ให้รางวัลประกาศเกียรติคุณแก่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ให้เป็นนักสหกรณ์แห่งชาติ และจัดอันดับให้สหกรณ์ฯ (สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด) เป็นสหกรณ์มาตรฐานในระดับดีเลิศ ประจำปี 2554 ทำให้สมาชิกสหกรณ์ฯ หลงเชื่อว่าสหกรณ์ฯ บริหารงานดี นั้น
เห็นว่า การยกย่องให้นายศุภชัย เป็นนักสหกรณ์แห่งชาติ หรือการจัดอันดับสหกรณ์ฯ ให้เป็นสหกรณ์มาตรฐานในระดับดีเลิศนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือว่าสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายในทุกกรณี แต่ยังคงมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟังขึ้น
ทั้งนี้ ในขณะฟ้องคดี สถานะของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด อยู่ระหว่างปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ปัจจุบันคดีดังกล่าวศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯ กรณีจึงมีผลให้สหกรณ์ฯ กลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติแล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมใช้สิทธิในการเบิกถอนเงินดังกล่าวได้ต่อไป
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องคดีพึงจะได้รับดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดีเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อผ. 699/2560 คดีหมายเลขแดง ที่ อผ.206/2567 ลงวันที่ 26 ก.ค.2567 ระบุ
อ่านประกอบ :
ร้อง'กมธ.ป.ป.ช.'เร่งรัดคดียักยอกทรัพย์'สหกรณ์ฯคลองจั่น'-สอบไม่เพิกถอน'น.ส.3 ก'รุกป่า
ฟ้องซ้ำ! ‘ศุภชัย-พวก’รอดคดีฉ้อโกงประชาชน สมัยนั่ง ปธ.สหกรณ์คลองจั่นฯ