‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายกฟ้องคดี ‘บมจ.ทรูฯ’ ฟ้องขอเพิกถอนประกาศฯ ‘หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่’ พร้อมยืนคำสั่ง ‘เลขาธิการ กสทช.’ ให้บริษัทฯปรับปรุงการโอนย้ายเบอร์ ‘ลูกค้ามือถือ’ ให้เป็นไปตามประกาศ
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อร.71/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.118/2567 ซึ่งเป็นคดีที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (เดิม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับพวก ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ที่สั่งให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุงการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ถูกต้อง ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่องที่ของผู้ให้บริการตามประกาศดังกล่าว (MNP Porting Process Manual) แจ้งตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช. 5005/21912 ลงวันที่ 15 ก.ค.2557
พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 วาระที่ 4.13 และขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แจ้งตามหนังสือของสำนักงาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่ สทช. 5011/11252 ลงวันที่ 10 เม.ย.2558
เนื่องจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เห็นว่า ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP Porting Process Manual) ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากประกาศใช้ในเวลาที่ยังไม่มีความพร้อมทางเทคนิคอย่างแท้จริง และประกาศฯดังกล่าว เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร และขัดต่อหลักความได้สัดส่วนตามกฎหมายปกครอง
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลฯวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ประกาศ กทช. หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 28 ก.ค.2552 และการกำหนดเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP Porting Process Manual) นั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น คำสั่งมติของถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ในการประชุมครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 แจ้งตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ลงวันที่ 10 เม.ย.3558 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ โดยให้ยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (เลขาธิการ กสทช.) ที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขปรับปรุงการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ถูกต้องหรือเหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
“…ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ กสทช.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 (11) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบมาตรา 12 วรรคสี่แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ออกประกาศ กทช. หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 28 ก.ค.2552
และกำหนดเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP Porting Process Manual) ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคนาคม พ.ศ.2544 และตามเงื่อนไขที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนด
หากผู้ฟ้องคดี ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (เลขาธิการ กสทช.) ย่อมมีอำนาจตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติให้ถูกต้องได้
เมื่อคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ดำเนินการไม่สอดคล้องกับประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมวด 2 ว่าด้วยขั้นตอนการขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการในหลายขั้นตอน
โดยขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำขอ/แสดงความประสงค์ขอโอนย้ายของผู้ใช้บริการ ข้อ 1.1 ในส่วนของ Shops พนักงานของผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) นำชิมการ์ดเก่าไปเปลี่ยนเป็นชิมการ์ดใหม่ โดยไม่กรอกแบบฟอร์มการโอนย้าย แต่ให้กรอกชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ในตารางการโอนย้ายในแต่ละวันของสาขา สามารถโทรออกและรับสายได้ทันที ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 10 นาที
โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการ ทราบถึงรายละเอียดเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้าย ระยะเวลาดำเนินการและค่าธรรมเนียมการโอนย้าย และผู้ให้บริการรายใหม่ ไม่ได้จัดส่งสำเนาสัญญาให้บริการโทรคมนาคมเป็นหนังสือให้แก่ผู้ใช้บริการ ข้อ 1.2 ในส่วนของ SMS พบว่า มีการใช้ช่องทาง SMS ในการขอโอนย้ายฯ จากผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ ได้จนแล้วเสร็จครบกระบวนการ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ใช้บริการลงทะเบียน และแสดงตนของผู้ขอโอนย้าย
ขั้นตอนที่ 2 ผู้ฟ้องคดีดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีการเรียกดูบัตรประจำตัวประชาชน ข้อ 2.1 ในส่วนของ SMS มีการใช้ช่องทาง SMS ในการขอโอนย้ายจากผู้ฟ้องคดีไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ ได้จนแล้วเสร็จครบกระบวนการ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการให้มีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการ รวมทั้งการแสดงตนของผู้ขอโอนย้ายด้วย
และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ กสทช.) ยังพบข้อมูลว่า มีการยินยอมจากผู้ให้บริการรายเดิม (ดีแทค) ให้สามารถโอนย้ายเลขหมายที่ไม่ได้ลงทะเบียน ไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ (ผู้ฟ้องคดี) ที่อยู่ในเครือเดียวกันได้ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในเครือเดียวกัน เลขหมายที่ไม่ได้ลงทะเบียนต้องมีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการก่อน
ขั้นตอนที่ 3 มีการตัดเปลี่ยนจากผู้ฟ้องคดีไปรายใหม่ โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการระบบกลางก่อน โดยมีการโอนย้ายสำเร็จในวันที่ยื่นคำขอทันที รวมทั้งพบว่ามีเลขหมายที่เกิดการโอนย้ายในวันหยุด ขั้นตอนที่ 4 ข้อ 4.1 ในส่วนของ Shops มีการยอมรับการตัดเปลี่ยนมาจากผู้ให้บริการรายเดิม (ดีแทค) ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนการดำเนินการขั้นตอนที่ 3 ข้อ 4.2 ในส่วนของ SMS มีการตัดเปลี่ยนผู้ให้บริการก่อนจะไปดำเนินการขั้นตอนที่ 3 ด้วยวิธี SMS
ขั้นตอนที่ 5 ไม่มีการแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบเงื่อนไขและยินยอมให้เปลี่ยนแปลงข้อมูลจำเพาะของชิมการ์ด และผู้ฟ้องคดี มีการเผยแพร่สำเนาสัญญาการให้บริการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ใช้บริการได้รับทราบผ่านเว็ปไซต์ ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศและเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว อีกทั้งยังยอมรับในคำอุทธรณ์ด้วยว่า วิธีการที่ผู้ฟ้องคดีใช้ดังกล่าวสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการยิ่งกว่าการปฏิบัติตามเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ กสทช.)
ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) กระทำการฝ่าฝืนประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมวด 2 ว่าด้วยขั้นตอนการขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและเงื่อนไข แนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (เลขาธิการ กสทช.) จึงมีอำนาจตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว สั่งให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติให้ถูกต้องได้
ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (เลขาธิการ กสทช.) ตามหนังสือลงวันที่ 15 ก.ค.2557 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขปรับปรุงการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ถูกต้องหรือเหมาะสมจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) สามารถนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้โดนย้ายผู้ให้บริการได้ทั้งกระบวนการการแสดงเจตนาขอโอนย้ายของผู้ใช้บริการ โดยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่รองรับ นั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่าในศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงจึงไม่รับไม่รับวินิจฉัย
การที่ผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) อุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นต้องนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด มีข้อจำกัดในการโอนย้ายไม่เกินวันละ 40,000 ราย และวิธีการโอนย้ายตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนด ทำให้การโอนย้ายมีความล่าช้า ทำให้มีผู้ตกค้างนับล้านราย วิธีการของผู้ฟ้องคดีเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากกว่าวิธีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนด โดยสามารถทำการโอนย้ายได้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะแม้แต่น้อย และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว นั้น
เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่สามารถนำมาอ้าง เพื่อไม่ปฏิบัติตามประกาศและเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) มีหนังสือลงวันที่ 10 เม.ย.2558 แจ้งมติและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยระบุข้อความว่า ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือให้แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือมีผลกระทบต่อสสถามภาพของสิทธิทรีธหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี อันเป็นสั่งทางปกปครอง ผู้ฟ้องที่คดี จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว
เห็นว่า หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว เป็นเพียงการแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่วินิจฉัยให้ยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ให้ผู้ฟ้องคดีทราบเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีเพิ่มเติมจากคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่คำสั่งทางทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดี จะมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้
เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการ กสทช.) ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น มติของถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ในการประชุมครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 แจ้งตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ลงวันที่ 10 เม.ย.3558 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ โดยให้ยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อร.71/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อร.118/2567 ลงวันที่ 3 ก.ย.2567 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกประกาศ กทช. เรื่อง กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 28 ก.ค.2552 และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP Porting Process Manual) จากนั้น กทช. ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ธ.ค.2553 ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศฉบับแรก
ต่อมาในการประชุม กทช. ครั้งที่ 12/2556 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2556 กทช.มีมติมีมติเห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติในการโอนย้ายเลขหมายฯ ของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในรูปแบบการโอนย้ายเลขหมายแบบปกติ (General Port) โดยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการดังต่อไปนี้
1.ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย และบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด จะต้องขยายขีดความสามารถการให้บริการโอนย้ายฯ ให้สามารถรองรับการโอนย้ายเลขหมายฯ ได้ไม่น้อยกว่าวันละ 40,000 เลขหมาย และขยายขีดความสามารถขึ้นอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงในกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และการเปิดให้บริการ 3G โดยให้มีการประมาณความต้องการเพื่อใช้ในการวางแผนการขยายให้ชัดเจน
2.การเพิ่มช่องทางในการให้บริการยื่นคำขอโอนย้ายฯทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย จะต้องจัดทำระบบความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่สามารถตรวจสอบตัวตนและการแสดงเจตนาการขอโอนย้ายฯ ของผู้ใช้บริการ ตลอดจนมีการกำหนดกระบวนการและขั้นตอนการโอนย้าย พร้อมทั้งการให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ชัดเจนได้ในทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลบัตรประชาชนของผู้ใช้บริการในทางที่มิชอบได้
3.ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย จะต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการการทำงานภายในของตนให้สามารถรองรับปริมาณคำขอโอนย้ายและให้บริการโอนย้ายเลขหมาย รวมทั้งเพิ่มช่วงเวลาให้บริการ เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนผู้ใช้บริการได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด
ต่อมาในการประชุม กทช. ครั้งที่ 22/2556 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2556 กทช. ได้มีมติเพิ่มเติม ดังนี้
1.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงช่องทางการยื่นคำขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางดังกล่าวต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการตามข้อ 38 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริการเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.3551 และเห็นชอบให้ใช้วิธีการส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อการลงทะเบียนขอใช้บริการล่วงหน้า (Pre-Register) และเพื่อการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการเท่านั้น
2.กรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะดำเนินการอันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องเปลี่ยน SIM Card ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจำเพาะ (Specific data) ของ SIM Card ของผู้ใช้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงข่ายไปยังผู้ใช้บริการแบบอัตโนมัติ เช่น การดำเนินการโปรแกรมด้วยวิธี OTA programming เป็นต้น ผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดและจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
2.1 จะต้องเป็นการดำเนินการภายหลังจากที่ได้มีการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสร็จสมบูรณ์ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ธ.ค.2553 และเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่ กทช. ให้ความเห็นชอบแล้วเท่านั้น
2.2 ผู้ใช้บริการจะต้องรับทราบเงื่อนไขและให้ความยินยอมในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจำเพาะของ SIM Card
อย่างไรก็ตาม ต่อมา เลขาธิการ กสทช. ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องพบว่า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ต่อมาเปลี่ยนเป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ดำเนินการโอนย้ายผู้ให้บริการโดยปราศจากความยินยอมของผู้ใช้บริการทาง SMS ไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มในเครือฯ จนแล้วเสร็จกระบวนการ โดยไม่ได้ลงทะเบียนและแสดงตนของผู้ใช้บริการ โดยไม่ผ่านผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลกลาง อันเป็นการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สอดคล้องและฝ่าฝืนประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ
เลขาธิการ กสทช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุงการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ถูกต้อง