ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ป้องกันทุจริตบุกรุก ‘ที่ชลประทาน’ โดยมิชอบ หลังพบ 'นายทุน-ชาวบ้าน' บุกรุกพื้นที่ ‘อ่างเก็บน้ำ’ 4 แห่ง ใน จ.ศรีสะเกษ
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบุกรุกที่ชลประทานโดยมิชอบ กรณีศึกษาประเด็นขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา ก่อนนำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบุกรุกที่ชลประทานโดยมิชอบฯ ประกอบด้วย
1.ด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่
(1) เห็นควรให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) เป็นต้น ในการสำรวจแนวเขตที่ชำรุดหรือสูญหาย และจัดทำเป็นฐานข้อมูลพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
โดยเฉพาะเขตที่ขอใช้ที่ดินของหน่วยงานอื่น ประกอบด้วย ข้อมูลขอบเขตการใช้ประโยชน์ ตำแหน่งหมุดหลักเขตพื้นที่ วัตถุประสงค์ และระยะเวลาที่ขอใช้ประโยชน์ แล้วให้เปิดเผยต่อสาธารณรับทราบผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
(2) หากมีการบุกรุกพื้นที่ในความครอบครองดูแลของกรมชลประทาน กรมชลประทานจะต้องดำเนินการต่อผู้บุกรุกด้วยความรวดเร็วโดยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจนร่วมกัน
(3) เห็นควรให้กรมชลประทานกำหนดแนวปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานดำเนินการการเมื่อมีการบุกรุกพื้นที่ของกรมชลประทาน
(4) เห็นควรให้กรมชลประทานกำหนดกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการทางวินัยในกรณีที่เจ้าพนักงานปล่อยปละละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าหน้าที่ไม่ดำเนินการต่อผู้บุกรุก อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง มติคณะรัฐมนตรี และแนวทาง/มาตรการที่เกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของรัฐโดยมิชอบ
(5) เห็นควรให้กรมชลประทานตรวจสอบพื้นที่ในความครอบครองดูแลของกรมชลประทานอย่างสม่ำเสมอและสำรวจผู้ถือครองที่ดิน หากผู้ถือครองไม่มีหลักฐานแสดงการครอบครองตามกฎหมายที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐจังหวัด (คพร.จังหวัด) เพื่อให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องต่อไป
(6) เห็นควรให้กรมชลประทาน พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงพุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น แก้ไขมาตรา 37 ให้มีบทลงโทษที่สูงขึ้นจากเดิม โดยมุ่งถึงเจตนารมณ์ในการป้องปราบการการกระทำความผิดที่อาจจะเกิดขึ้น
2.ด้านการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่
(1) เห็นควรให้กรมป่าไม้และกรมชลประทานกำหนดในข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของกรมชลประทานว่าหากมีการบุกรุกพื้นที่ที่ขอใช้ประโยชน์ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือถ้าหากกรมชลประทานมีการขอใช้พื้นที่กับหน่วยงานอื่นให้กรมชลประทานแจ้งหน่วยงานนั้นถึงข้อกำหนดการแก้ไขปัญหาการบุกรุกในเงื่อนไขข้อตกลงด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในกรณีที่มีการบุกรุกในพื้นที่ที่ขอใช้ประโยชน์
(2) การพิจารณากำหนดพื้นที่ในการขอใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน เห็นควรให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์สภาพปัญหาภาพรวมและการพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตในกระบวนการงบประมาณ เช่น ลักษณะโครงการและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ ศึกษารายการตรวจสอบ (Checklist) ที่จะเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการสังเกตโครงการ/รายการที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตตลอดกระบวนการงบประมาณ ประกอบกับพื้นที่ที่ดำเนินการของโครงการนั้นๆ เพื่อทราบถึงหน่วยงานที่ต้องรับการถ่ายโอน
และทราบถึงความสามารถของหน่วยงานในการบำรุงรักษา อาจพิจารณาองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น ความพร้อมของหน่วยงานรับโอนภารกิจ งบประมาณ ขนาดหน่วยงาน รายได้หน่วยงาน บุคลากรในสังกัดของหน่วยงาน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีวิชาชีพเกี่ยวกับการช่าง วิศวกร หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณา เป็นต้น พร้อมทั้งมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการรับถ่ายโอน เพื่อให้โครงการตามภารกิจที่ถ่ายโอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดไม่มีปัญหาการปล่อยทิ้งร้าง
(3) การขออนุญาตใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ทั้งกรณีการยื่นคำขอใหม่ และต่ออายุการอนุญาต กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการประกาศหรือประชาสัมพันธ์ขอบเขตพื้นที่ในช่องทางที่เหมาะสมทุกรูปแบบ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมกันสอดส่องดูแล ตลอดถึงแนวทางการดำเนินการหากมีการบุกรุกในที่ดินที่ขอใช้ดังกล่าว อันเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชาชน และภาคเอกชน ป้องกันการร้องเรียนเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ
(4) เมื่อมีการขออนุญาตใช้ประโยชน์เพื่อการใช้ประทานแล้ว หากมีการขอใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ตามที่ขอใช้ประโยชน์ในลักษณะพื้นที่แปลงใหญ่ เห็นควรให้กรมชลประทานกันคืนพื้นที่ดังกล่าวกลับให้กรมป่าไม้เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจหลักในการคุ้มครองและดูแลต่อไป
3.มอบหมายให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาและมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ ให้กรมชลประทานรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นระยะจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ป.ป.ช. ได้ระบุถึงสาเหตุที่ต้องมีการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบุกรุกที่ชลประทานโดยมิชอบฯ ดังกล่าว ว่า เนื่องจากที่ผ่านมาปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่อ่างเก็บน้ำชลประทานในเขตพื้นที่ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อ่างเก็บน้ำห้วยโอตาลัต และอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานขอใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้แก่ราษฎรในพื้นที่
อย่างไรก็ดี ต่อมาปรากฎว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุกซึ่งมีทั้งกลุ่มนายทุนและราษฎร โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในหน้าที่และอำนาจว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณสมบัติอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งต้นน้ำที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษใช้อุปโภคบริโภค และประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประกอบกับประชาชนในพื้นที่มองว่าเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่คนกระทำผิดกฎหมายไม่ถูกลงโทษ แต่ยังได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดกฎหมาย