AFP อ้างข้อมูล WHO ชี้ถนนไทยอันตราย 2 ของเอเชีย เสียชีวิตจากเหตุบนท้องถนนอันดับ 16 ของโลก -ปัญหาส่วนมากจากเมาแล้วขับ ออกแบบถนนไม่ดี เหตุทุจริตตรวจประสิทธิภาพยานพาหนะ ยกข่าว จนท.ทล.รับสินบนเป็นตัวอย่าง ขณะ รพ.ไทยแม้ประสิทธิภาพจะดี แต่การบริการฉุกเฉินในต่างจังหวัดยังเป็นปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความเห็นจากสื่อต่างประเทศต่อเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยา จ.อุทัยธานี ว่าสำนักข่าว AFP ได้รายงานกรณีนี้ว่าสืบเนื่องจากที่ปรากฏข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 คน ในประเทศไทยในทุกปีจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือคิดเป็นจำนวนเฉลี่ย 50 คนต่อวัน นี่หมายความว่า ประเทศไทยมีถนนที่อันตรายที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากเนปาล และอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลกในด้านอัตราการเสียชีวิตจากการจราจร ควบคู่ไปกับชาดและกินี-บิสเซา ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 25.7 รายต่อประชากร 100,000 คน เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 15 ราย โดยอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสําคัญ เช่น ปีใหม่และสงกรานต์
โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ การออกแบบถนนที่ไม่ดี และยานพาหนะที่ไม่ปลอดภัย อีกทั้งประสิทธิภาพในการตรวจสอบยานพาหนะยังอ่อนแอลงจากปัญหาการฉ้อโกง ดังที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่ามีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงรับเงินจำนวนนับล้านบาทเพื่อให้รถบรรทุกเกินพิกัดที่ไม่ปลอดภัยผ่านการตรวจสอบการใช้งานบนท้องถนนได้
อีกทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ รถจักรยานยนต์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการจราจรที่หนาแน่น แต่การบังคับสวมหมวกกันน็อคนั้นหละหลวม
ส่วนในเรื่องของประสิทธิภาพโรงพยาบาล แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วโรงพยาบาลในประเทศไทยจะมีคุณภาพ แต่โรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท มักจะมีอุปกรณ์น้อยกว่า และสิ่งอํานวยความสะดวกน้อยกว่าในเมือง ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุบนถนนในชนบทแคบ ๆ อาจพบว่าตัวเองต้องรอบริการฉุกเฉินมาถึงเป็นเวลานาน
เรียบเรียงจาก:https://www.france24.com/en/live-news/20241002-why-are-thailand-s-roads-so-deadly