พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ-รมว.คลัง เปิดใจ ค่าเงินบาทแข็ง-อัตราดอกเบี้ยสูง-เงินเฟ้อต่ำ ชวน ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ถอดหัวใจ นั่งคุย ประสานนโยบายการคลัง-นโยบายการเงิน ฝ่าพิษเศรษฐกิจเรื้อรัง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้าในเรื่องค่าเงินบาท อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ทุกเรื่องมีความสัมพันธ์กันหมดในภาพใหญ่ เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องที่สำคัญกับทุกคนที่ต้องการใช้เงินลงทุน เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกัน โดยเฉพาะตอนนี้สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ค่าเงินบาท
@ เงินบาทแข็งสุดในรอบ 19 เดือน
นายพิชัยกล่าวว่า วันนี้เรื่องค่าของเงิน ตนติดตามมาตลอด มานั่งดูก็พอจะทราบว่า เมื่อวานนี้เป็นอัตราค่าเงินแข็งที่สุด ต่ำที่สุด ถ้านับย้อนหลัง 19 เดือน ความหมาย เวลาค่าเงินแข็งขึ้นจะมีผล สองอย่าง หนึ่ง คนส่งออกไม่ชอบค่าเงินแข็ง อยากเห็นอัตราแลกเปลี่ยน 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อค่าเงินอ่อน เวลาขายของออกต่างประเทศก็จะได้เงินเยอะ อีกด้านหนึ่ง คนที่ชอบ คือ คนลงทุน คนที่ต้องการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศมาลงทุน จังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดี เพราะฉะนั้นก็จะมีความต้องการไม่เหมือนกัน
นายพิชัยกล่าวว่า แต่สำคัญที่สุด นอกเหนือจากนี้ เราต้องทราบสาเหตุเสียก่อน ว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งวันนี้ เป็นผลจากภายนอก โดยเฉพาะธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (FED) ที่มีนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงมายาวนาน วันนี้ตัดสินใจลงไปอย่างมีสาระสำคัญ และส่งสัญญาณด้วยความเชื่อมั่นว่าจะลงต่ออีก คนเชื่อว่า ตลาดเชื่อว่า อย่างน้อย ๆ ก็น่าจะลงประมาณ .75 % ซึ่งมีสาระสำคัญ
“การลงอย่างนี้ ทั่วโลกจะโดนหมด เม็ดเงินจะไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามาสู่ประเทศที่พัฒนา ประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น ทุกคนก็จะเจอปัญหาเงินแข็งหมด”นายพิชัยกล่าว
@ เทียบประเทศคู่ค้า ค่าเงินบาทแข็งสุด
นายพิชัยกล่าวว่า ตัวเลขหนึ่งที่สำคัญมากกว่าค่าเงินแข็ง คือ เวลาเงินแข็ง เทียบกับสกุลเงินอื่นเป็นอย่างไร เทียบกับประเทศคู่ค้าของไทย เช่น เงินหยวนของจีน เงินดองของเวียดนาม เงินเยนของญี่ปุ่น รูเปียของอินโดนีเซีย หรือริงกิตของมาเลเซีย ค่าเงินแข็งเช่นกัน ใครแข็งมากกว่าเสียเปรียบ ซึ่งเราแข็งมากกว่าคนอื่น
“ผมเชื่อว่า คนที่ดูแลเรื่องนี้จะต้องหยิบไปใส่ว่า นอกจากค่าเงินแข็งแล้วตามธรรมชาติจากปัจจัยภายนอกและแข็งกว่าประเทศอื่นเราจะทำอย่างไร แปลว่าความสามารถทางการแข่งขันก็จะได้รับผลกระทบต่อผู้ส่งออกมาก”นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า เรื่องที่สอง เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลที่จะตามมาก็คือเงินเฟ้อ ธปท.มีความคิดอยู่ว่า วันนี้ค่าเงินเฟ้อต่ำและจะสูงขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ วันนี้ 8 เดือนแล้ว ค่าเงินเฟ้อขึ้นมา .15 % คาดการณ์ได้ว่า ค่าเงินเฟ้อจะไม่สูงนัก แปลว่า หลุดกรอบล่าง ที่ตั้งกรอบไว้ คือ 1-3 % ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน หรือ อัตราดอกเบี้ย
@ เล็ง ทบทวนกรอบเงินเฟ้อ-ลดดอกเบี้ย
นายพิชัยกล่าวว่า เรากำหนดค่าเงินเฟ้อไว้ 1-3 % เราอยากจะเห็นให้อยู่ใกล้กับ 2 % ค่าเงินเฟ้อมีความหมาย ถ้าเงินเฟ้อมากไป เศรษฐกิจร้อนแรงมากเกินไป อาจจะมีผล แต่ถ้าเงินเฟ้อน้อยเกินไปก็จะมีผลอีกด้านหนึ่ง คือ ความมั่นใจ ผู้บริโภคชอบเงินเฟ้อน้อย ๆ จะได้ของถูก แต่ผู้ผลิตก็ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อน้อยเกินไป เพราะไม่สมดุล
“ผมคิดว่า เมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบล่าง ก็เป็นเรื่องที่เราต้องตกลงกัน ได้เวลาตกลงกันแล้วว่า เงินเฟ้อเป็นอย่างไร 1-3 % เราไม่ถึงกรอบล่างเลย เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกัน เมื่อตกลงกรอบเงินเฟ้อแล้วจะมีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ากำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ 1-3 % แต่ไม่สูง แสดงว่า เศรษฐกิจไม่ขึ้น จะต้องดูอัตราดอกเบี้ยว่าเรา สูงเกินไปหรือไม่ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราเป็นอย่างไร เพื่อให้คนเกิดความมั่นใจในแง่ของผู้ผลิต”นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อยากจะชี้ให้เห็นอีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา ได้นำข้อมูลหนึ่งมาให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยตกต่ำเป็นเวลายาวนานเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น แปลว่า จะส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนขึ้น หนี้เอสเอ็มอีขึ้น เยียวยาลำบาก และหนี้สาธารณะขึ้นตามลำดับ
@ ย้อน 8 ปี เงินเฟ้อต่ำกรอบล่าง 6 ครั้ง
นายพิชัยกล่าวว่า ดังนั้น เราเห็นว่านโยบายเดียวที่ทำ คือ เราจะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยกลับขึ้นไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือในตลาดโลกได้ เราจะเห็นว่า รัฐบาลใช้ระบบงบประมาณ หรือกรอบงบประมาณเต็มที่ในช่วงนี้ เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโต รัฐบาลกระตุ้นเต็มที่ ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่โตเราก็เก็บภาษีได้เท่าเดิม จนกระทั่งเศรษฐกิจโตถึงจะเก็บได้มากขึ้น
“การบริหารประเทศ รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังที่มีอยู่เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดนั้นต้องสัมพันธ์กับนโยบายทางการเงิน ตัวที่สำคัญที่สุด คือ ดอกเบี้ยนโยบายควรจะสูงหรือต่ำ ถ้ากำหนดสูงไปก็ไม่เอื้อ รัฐบาลเดินไปในทางให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ถ้าดันให้ดอกเบี้ยสูงจะสวนทางกัน ควรจะดันให้ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่ ถ้าดอกเบี้ยต่ำและกลัวว่าคนจะใช้จ่ายเงินเยอะ ค่าเงินเฟ้อจะสูง แต่วันนี้ค่าเงินเฟ้อต่ำมาตลอด และอยู่ต่ำกว่ากรอบล่าง ย้อนกลับไปตั้งแต่ 2558 ถึงวันนี้ เกือบ 8 ปี หลุดต่ำกว่ากรอบมา 6 ครั้ง”นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า กรอบเงินเฟ้อ วันนี้ประเทศพัฒนาส่วนใหญ่แล้วคาดการณ์ไว้ที่ 2 % แต่เราหลุดกรอบล่าง ไม่ถึง 1 % เป็นอีกสิ่งที่ต้องดูกัน
@ ชวน ถอดหัวใจมานั่งคุยกัน
นายพิชัยกล่าวว่า เรื่องนี้อยากจะเชิญชวนมาทำงานร่วมกัน นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังมาทำงานร่วมกันให้สอดประสานกัน อันหนึ่งดันเศรษฐกิจให้ขึ้น อีกอันหนึ่งก็กลัวเศรษฐกิจจะมีปัญหา วันนี้สถาบันการเงินหรือระบบธนาคารเข้มแข็ง ดูแลนโยบายการเงินให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายภาครัฐ
“ผมอยากจะเชิญชวน มานั่งคุยกัน มองเห็นข้อมูลเดียวกัน มาทำงานร่วมกัน ให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับนโยบายการคลัง และเป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลอยากจะผลักดันตามที่สัญญาไว้กับประชาชน เป็นแนวทางที่ดีที่สุด”นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า วิธีการของผม อยากจะนั่งคุยกัน เห็นข้อมูลเดียวกัน ใช้เหตุและผลคุยกัน เช่น กลัวดอกเบี้ยลงแล้วคนจะกู้มากขึ้นก็จะทำให้หนี้มากขึ้น แต่เราก็จะมองเห็นว่า ใช่ ในภาวะที่คนเงินเยอะ แต่ถ้าดอกเบี้ยลงในภาวะที่คนไม่มีเงิน คนจะเอาที่ไหนไปกู้ ต้องมานั่งคุยกันว่า ตรรกะที่แท้จริงคืออะไร
นายพิชัยกล่าวว่า วันนี้ได้เวลาที่จะมาคุยกันเรื่องกรอบเงินเฟ้อ นำไปซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนำไปซึ่งการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพราะต้องผสานกันหมด ดีที่สุด คือ จับมือกัน ร่วมมือกันระหว่างนโยบายทางการเงินกับนโยบายทางการคลัง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟันฝ่าเศรษฐกิจที่เรื้อรังมานาน
“ผมผ่านมาหลายสถานการณ์ ตั้งแต่ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 40 เวลาเราคุย บางครั้งคุยเรื่องนี้ก็ต้องขอเชิญชวน เราถอดใจ มานั่งฝั่งลูกหนี้บ้าง คนหาสินเชื่อบ้าง พอเราเข้าใจเขา เขาคิดอย่างไร ถ้าคุยเรื่องความมั่นคง เราถอดหัวใจไปอยู่ทางด้านสถาบันการเงินบ้าง พอเราคุยเรื่องอัตราดอกเบี้ย มีผลกระทบใครบ้าง”นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า อาจจะมองว่า ดอกเบี้ยลงทำให้สร้างหนี้มากขึ้น รัฐบาลอาจจะมองว่า ดอกเบี้ยลงทำให้มีผลให้ต่าง ๆ ดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ดีขึ้น แต่ถ้าลงแล้วบริษัทใหญ่ได้ดี ผมเป็นรัฐบาลก็มองว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีทั้งกลาง ทั้งใหญ่ ทั้งเล็ก ถ้าใหญ่ดี ประเทศก็ดีไม่ใช่หรือ
“เชิญชวนมานั่งดูแต่ละอัน ถอดหมวกออก เรามานั่งตรงกลางแล้วมองดูทั้งหมดเพื่อภาพรวม ถ้าเห็นแบบนี้แล้วก็คิดว่าจะเห็นอะไรที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น”นายพิชัยกล่าว