'นายกฯ'เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ย้ำเดินหน้าผลักดัน ‘ดิจิทัลวอลเลต’ พร้อมแต่งตั้ง ‘คกก.ปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ’ มอบ ‘ธงทอง’ นั่งประธานฯ
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 321/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา
โดยสามารถสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน และการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1.นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองประธานกรรมการ (คนที่ 1) 3.รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการ (คนที่ 2) 4.รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมการ (คนที่ 3)
5.รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองประธานกรรมการ (คนที่ 4) 6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ 7.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) กรรมการ 8 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล) กรรมการ 9.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) กรรมการ 10. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) กรรมการ
11.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรรมการ 12.ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ 13.ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ 14.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ 15.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกรรมการ 16.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ 17.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ 18.ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรรมการ
19.ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กรรมการ 20.ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการ 21.ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการและเลขานุการ 22.ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีดังนี้
1.กำหนดนโยบายโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการตำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2.กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการในภาพรวม ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
3.กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจบรรลุผลสำเร็จ และเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
4.ติดตามและประเมินผล ทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
5.รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน
6.กำหนดแนวทางในการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ
7.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
8.เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการ
9.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
@แต่งตั้งคกก.ปรับปรุงกฎหมาย ‘ธงทอง’ นั่งประธานฯ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 322/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (คปธ.) เพื่อทำหน้าที่ทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับอยู่และที่ควรจัดให้มี และเป็นกลไกในการบูรณาการ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงกฎหมายของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้มีโอกาสสร้างรายได้ ลดขั้นตอน เวลาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สำหรับคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1.ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ 4.เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ 5.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
6.ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง กรรมการ 7.ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อรุพีพัฒนพงศ์ กรรมการ 8.รองศาสตราจารย์ ชโยดม สรรพศรี กรรมการ 9.ศาสตราจารย์ ทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการ 10.นายธนวรรษ เพ็งดิษฐ์ กรรมการ 11.นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ กรรมการ 12.ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ กรรมการ 13.รองศาสตราจารย์ วีระพงศ์ มาลัย กรรมการ
14.นายศรพล ตุลยะเสถียร กรรมการ 15.นายเสรี นนทสูติ กรรมการ 16.ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กรรมการ 17.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กรรมการและเลขานุการ 18.ผู้แทนสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ผู้ช่วยเลขานุการ และ19.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการผู้ช่วยเลขานุการ
ส่วนหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มีดังนี้
1.กำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางในการพิจารณาทบทวนความจำเป็นความเหมาะสมของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับอยู่ และที่ควรจัดให้มี
2.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นประโยชน์ และแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และธุรกิจของประชาชน ตลอดจนการยกระดับการบริหารจัดการและการให้บริการของรัฐ
3.บูรณาการและติดตามการดำเนินการของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน พ.ศ.2563 และส่วนราชการอื่น ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
4.รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณามีมติเกี่ยวกับการดำเนินการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย มาตรการ และแนวทางที่ คปธ. กำหนด
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ ของ คปธ.
6.ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือแก่ คปธ. ในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนการดำเนินการอื่นๆ ตามที่ คปธ. กำหนด
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะแจก'เงินหมื่น'กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน โอน 25 ก.ย.-จ่อตั้ง‘คกก.กระตุ้นเศรษฐกิจ’