ครม.ไฟเขียวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯผ่าน ‘กลุ่มเปราะบาง’ แจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้ ‘กลุ่มผู้ถือบัตรสวัดิการ-คนพิการ’ 14.5 ล้านคน เริ่มโอน 25 ก.ย.นี้ คาดดันจีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้น 0.35% จ่อตั้ง ‘คกก.กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ยืนยันแจกเงิน 'เฟสสอง' แน่นอน
.......................................
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน โดยรัฐบาลจะแจกเงินให้กับประชาชกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวน 14.5 ล้านคน คนละ 10,000 บาท โดยจะจ่ายเงินให้ถึงมือกลุ่มเปราะบางดังกล่าวภายในเดือน ก.ย.2567
“เรามีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจากสถานการณ์ที่ภาคประชาชนมีปัญหาเรื่องหนี้สินค่อนข้างมาก และเศรษฐกิจยังไม่ขึ้นตามที่เราคิด เราก็เลยมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และด้วยความที่เป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งเราได้มองมาหลายเดือนแล้วว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน จะต้องรีบ จึงเป็นที่มาของการของบประมาณเพิ่มเติมปีงบ 2567 ซึ่งวันนี้มาถึงจุดที่เราคิดว่า ต้องรีบใช้แล้ว เพราะเร่งด่วนจริงๆ จึงจะมีการเติมเงินสู่เศรษฐกิจ ให้เงินเข้าถึงประชาชนใน ก.ย.นี้
คำถามต่อมา จะเป็นกลุ่มไหนก่อน ก็อย่างที่ท่านทราบ จะเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือพวกที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 12.4 ล้านคน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้พิการ 2.1 ล้านคน รวมแล้ว 14.5 ล้านคน ซึ่งจากงบประมาณที่ผ่านสภาฯมา และวันนี้ ครม.ได้อนุมัติโครงการฯ เพื่อใช้เงินก้อนนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเราตั้งใจว่าจะจ่ายให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ จึงจะเริ่มต้นจ่ายตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. แต่เนื่องจากระบบจ่ายได้วันละ 4 ล้านคน จึงแบ่งจ่ายเป็น 4 วัน” นายพิชัย ระบุ
นายพิชัย ยืนยันว่า การแจกเงินในเฟสที่ 2 จะมีอย่างแน่นอน เพราะมีผู้มาลงทะเบียนเอาไว้แล้ว และเงินก็เตรียมไว้แล้ว ส่วนการโอนเงินผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบแรกของประเทศ จึงต้องดูให้รอบคอบทั้งระบบลงทะเบียน ระบบ Payment และระบบการให้ธนาคารต่างๆเข้ามาเชื่อมโยงด้วย ซึ่งต้องดูอย่างละเอียด ต้องมีการทดสอบระบบให้รอบคอบก่อน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การจ่ายเงิน 10,000 บาท ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว จะจ่ายในช่วงวันที่ 25-30 ก.ย.2567 คือ วันที่ 25 ก.ย.2567 ,วันที่ 26 ก.ย.2567 ,วันที่ 27 ก.ย.2567 และวันที่ 30 ก.ย.2567 โดยจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน ส่วนกรณีที่บัญชีมีปัญหาหรือโอนแล้วไม่ผ่าน จะมีการโอนซ้ำอีก 3 ครั้ง คือ วันที่ 22 ต.ค.2567 ,22 พ.ย.2567 และ22 ธ.ค.2567
“ถ้าประชาชนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์นี้ แต่ไม่ได้รับเงินในช่วงดังกล่าว (25-30 ก.ย.2567) จะมีการทดสอบ ทดลองโอนให้อีก 3 ครั้ง ซึ่งระหว่างนั้น ก็เป็นเวลาที่พี่น้องประชาชนกลุ่มนี้จะสามารถไปแก้ไขในเรื่องการผูกบัญชีพร้อมเพย์ต่างๆให้เรียบร้อย” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การจ่ายเงินในโครงการภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีโอกาสทุจริต (Fraud) ใกล้เคียง 0% เนื่องจากเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีประชาชนผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งตรงกับเลขบัตรประชาชน และกลไกในใช้จ่าย เมื่อจ่ายเงินสด และไม่มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายว่าห้ามนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง จึงไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะรับเงินไปแล้ว จะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เลย
นายจุลพันธ์ ระบุว่า ในส่วนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น รัฐบาลจะดำเนินการต่อไป เพราะโครงการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม. ไม่ได้มีการหารือในรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเลตแต่อย่างใด
“ในที่ประชุม ครม.ไม่ได้มีการพูดถึง (โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet) เวลาเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เราพูดถึงเฉพาะสิ่งที่นำเข้าสู่ ครม. คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มเปราะบาง 1.45 แสนล้านบาท มีการพูดถึงโครงการในอนาคตบ้าง เช่น กลุ่มต่างๆที่ควรพิจารณาเป็นกลุ่มถัดไป อันนั้นก็เฟสต่อไปที่เรารับโจทย์มา และพิจารณาต่อเท่านั้นเอง ไม่ได้ลงในรายละเอียดโครงการฯในขั้นถัดไป” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ ยังย้ำว่า การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบต่างๆในโครงการดิจิทัลวอลเลตนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะดำเนินแล้วเสร็จเมื่อใด
นายจุลพันธ์ ระบุด้วยว่า รัฐบาล โดย น.ส.แพททองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อมาดูว่างบประมาณที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ และโครงการที่จะต้องเดินหน้าว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งรวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเลตด้วย
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชนนั้น ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปเปิดบัญชีบัญชีธนาคารใหม่ โดยสามารถใช้บัญชีเดิมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และเป็นบัญชีที่มีอยู่กับธนาคารใดก็ได้ ในขณะที่การจ่ายเงินให้กับกลุ่มเปราะบางในครั้งนี้ นอกจากมีผลต่อเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้ด้วย โดยเฉพาะการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ปรับเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 เป็นขยายตัว 2.7% จากเดิม 2.4% แต่เพื่อรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี และเป็นแรงส่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กลุ่มคนที่ได้รับเงินในรอบนี้ คือ กลุ่มเปราะบางและคนพิการนั้น เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นและมีความสามารถในการใช้จ่ายสูง ดังนั้น เม็ดเงินที่ลงไปเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จากคำนวณคาดว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ 0.35% ต่อปี
สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ มาจาก 2 แหล่ง คือ 1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และ 2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 23,552 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ แบ่งเป็น 2 โครงการย่อย ได้แก่ 1.โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12.40 ล้านราย ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน
และ 2.โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ 2.15 ล้านราย เพื่อให้คนพิการมีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงิน 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา (2) บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ
ทั้งนี้ ในการดำเนินการทั้ง 2 โครงการดังกล่ว กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.2567 เป็นต้นไป ได้แก่ 1.คนพิการและผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0 จะได้รับเงินในวันที่ 25 ก.ย.2567 2.มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3 จะได้รับเงินในวันที่ 26 ก.ย.2567
3.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7 จะได้รับเงินในวันที่ 27 ก.ย.2567 และ 4.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9 จะได้รับเงินในวันที่ 30 ก.ย.2567
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ต.ค.2567 ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พ.ย. 2567 และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธ.ค.2567 โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
สำหรับช่องทางหลักในการตรวจสอบสิทธิและผลการได้รับเงินในโครงการ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 24 ก..ย.2567 เป็นต้นไป ได้แก่ 1. เว็บไซต์ https://xn--2567-4doaav1an0gvcuc4hcbc3gua9kpb5czewjlb2p.c... 2.เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th 3.เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check (เฉพาะคนพิการ) 4.แอปพลิเคชัน "รัฐจ่าย" โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
และ 5.ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร. 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีช่องทางติดต่อเพิ่มเติม เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โทรศัพท์สายด่วน (Call Center) 1300 ,ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โทร. 0 2109 2345 ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น.-17.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เป็นต้น