อธิบดีกรมทางหลวง สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ ‘ส่วยรถบรรทุก’ ชี้หากพบมีมูลเตรียมตั้งสอบวินัยต่อไป ก่อนเปิด 4 มาตรการล้อมคอก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 กันยายน 2567 จากกรณีตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จับกุมนายนพดล แสนงาย อายุ 57 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออก กรมทางหลวง และ เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot check 2.นายอเนก คำโฉม อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้านครราชสีมา 3. นายธงชัย เต็มฟอม หรือ บอย อายุ 38 ปี พลเรือนซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อ ได้เมื่อวานนี้ (3 ก.ย. 67)
- ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อคดี- ตร.ให้ประกันตัว 3 ผู้ต้องหาขบวนการเก็บส่วยรถบรรทุก
- หมุนเวียน 126 ล.! เช็กเส้นเงินขบวนการชุดเก็บส่วยรถบรรทุก- 'บิ๊กเต่า' ลั่นถึงใครเอาหมด
ล่าสุด นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของกรมฯ ได้สั่งการให้ทั้งสองคนออกจากราชการไว้ก่อน กรณีทุจริตต่อหน้าที่ หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่า มีผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ที่อยู่ในข่ายต้องเรียกมาสอบสวน หากพบว่ามีมูลจะต้องคณะกรรมการสอบวินัยต่อไป
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ไปมีพฤติกรรมเรียกรับส่วย นายสราวุธกล่าวว่า ถ้าจำกันได้เมื่อปีที่แล้วประมาณกลางปีก็มีประเด็นส่วยสติกเกอร์เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง และทำให้กรมฯ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้ประกอบการรถบรรทุก รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ ปปป.และ ป.ป.ช.ที่เข้ามาช่วยในทางลับ ร่วมกันหาทางในการกำจัดส่วนสติกเกอร์ไป จากความร่วมมือวันนั้น และจะมีการกำหนดมาตรการให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ส่วนกรณีนี้เจ้าหน้าที่ของกรมฯเองออกไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม มีอำนาจตรวจค้น เพราะถือเครื่องช่างน้ำหนักตามกฎหมาย จึงต้องตรวจสอบต่อไปว่า อาจจะมีการเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่
@ล้อมคอก 4 มาตรการ ส่วยรถบรรทุก
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงแนวทางการแก้ปัญหา อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า จากความร่วมมือในปัญหาส่วยสติกเกอร์ ปัจจุบันมาตรการเข้มข้น และนโยบายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ชัดเจนว่า จะต้องไม่มีส่วย ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุก ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่ใช้มาจะเข้มข้นขึ้น โดย
1.จะมีข้อสั่งการกรมฯให้เข้มงวดในการตรวจสอบรถบรรทุกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด่านชั่งน้ำหนักถาวร และด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่
2.สับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีไม่ให้อยู่เกิน 1 ปี เพราะถ้าอยู่นานอาจมีการรู้เห็นกับผู้ประกอบการในหลบเลี่ยงผลประโยชน์อื่นๆได้
3.มีระบบควลคุมเครือข่าวส่วนกลางทั้งกล้อง CCTV มีศูนย์ร้องเรียน 24 ชม. และจะบูรณการกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้ผู้ประกอบการติดตั้งเครื่อง GPS ติดตามรถบรรทุกแต่ละคันว่าไปไหน อย่างไร ซึ่งจะเอามาประกอบกับระบบของกรมทางหลวง ที่จะติดตามได้ว่า รถบรรทุกแต่ละคันน้ำหนักเกินไหม? ขนส่งไปที่ไหน อย่างไร
4.จะมีการติดตามทั้งหมด โดยจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการมอนิเตอร์ เหล่านี้จะทำให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินน้อยลง
“เรื่องนี้กรมฯ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการว่า ยอมให้เกิดไม่ได้ ใครทำผิด ก็จับเลย ยินดี ช่วยกันในหลายๆมาตรการทั้งป้องปราม จับกุม ใช้ระบบในการติดตามต่างๆครับ” อธิบดีกรมทางหลวงปิดท้าย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)