ครม.เห็นชอบ 5 มาตรการ 63 แผนปฏิบัติการ ป้องกันและปราบปราม ‘ธุรกิจขายสินค้าผิดกฎหมายจากต่างประเทศ’ ให้ 'หน่วยงานรัฐ' เพิ่มความเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย-กำหนดเงื่อนไข 'อีคอมเมิร์ซต่างประเทศ' ต้องจดทะเบียน 'นิติบุคคล' ในไทย
......................................
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีมติเห็นชอบข้อเสนอการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการ 63 แผนปฏิบัติการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบและกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร เพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้าให้มากขึ้น เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทย การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายทางช่องทางออนไลน์ โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายไทย
มาตรการที่ 2 ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าของอนาคต โดยกำหนดเงื่อนให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการด้านภาษีนั้น จะมีการปรับปรุงประมวลรัษฎากร โดยกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
มาตรการที่ 3 การจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่างๆ รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อติดอาวุธให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยให้สามารถทำเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้ หากพบว่ามีการทุ่มตลาดสินค้า
มาตรการที่ 4 การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการในไทย โดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิต ขยายการส่งออกสินค้าผ่าน Thai E-commerce เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ในไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกใหม่
มาตรการที่ 5 สร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันให้สินค้าและบริการของไทยไปอยู่ใน E-commerce ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ E-commerce ในภูมิภาค
“มาตรการดังกล่าว เราได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในไทยอย่างสมดุล ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ นั้น ครม.มีความเห็นว่า เรื่องนี้ควรรอให้มี ครม.ชุดใหม่ก่อน และมีการจัดตั้ง ครม.ใหม่ ก็จะมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่กำกับและติดตามแผนปฏิบัติการในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด” นายศึกษิษฏ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดคำสั่งสุดท้าย‘เศรษฐา’ก่อนพ้น‘นายกฯ’ มอบ‘ภูมิธรรม’เจ้าภาพแก้ปัญหาสินค้า‘ตปท.’ทะลักไทย