เปิดคำสั่งสุดท้าย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก่อนพ้นเก้าอี้ ‘นายกฯ’ สั่งการในที่ประชุม ‘ครม.ครั้งสุดท้าย’ มอบ ‘ภูมิธรรม’ เป็นเจ้าภาพหามาตรการแก้ปัญหา ‘สินค้าต่างประเทศ’ เข้ามาขายในไทยผิดปกติ พร้อมมอบ ‘ก.เกษตรฯ’ แก้ปัญหา ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’
...................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุม ครม. นัดสุดท้ายของนายเศรษฐา ทวีสิน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 ส.ค.2567 นั้น นายเศรษฐา ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. โดยมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นเจ้าภาพหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดมาตรการแก้ปัญหาธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
“ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2567 นายกรัฐมนตรี เสนอว่า เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เกี่ยวกับธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่ได้เข้ามาค้าขายอย่างผิดปกติในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อโอกาสและความอยู่รอดในการผลิตและการทำธุรกิจของคนไทย
จึงขอมอมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการชาวไทยให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม ครบถ้วนในทุกมิติ เช่น
1.การตรวจสอบความถูกต้องของการจดทะเบียนการค้าและใบอนุญาตต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของต่างประเทศและดำเนินคดีกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่กระทำการผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2.การตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากต่างประเทศว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือได้รับการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยแล้วหรือไม่ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โดยให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นเจ้าภาพ ประสานการดำเนินการกับกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอาหารอาหารและยาตามแต่กรณีต่อไป
3.การตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ
4.การตรวจสอบความถูกต้องของการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดมาตรการ/แนวทางในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ขอให้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการของไทยอย่างสมดุล รวมทั้งให้พิจารณากำหนดแนวทางการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย ให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้กับต่างชาติในสภาวะการค้าขายของโลกในปัจจุบันด้วย
แล้วให้จัดทำสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการในภาพรวม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐนตรีโดยเร็วภายในเดือน ส.ค.2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ” หนังสือแจ้งมติ ครม. เรื่อง การป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ลงวันที่ 15 ส.ค.2567 ระบุ
นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. ดังกล่าว นายเศรษฐา ยังมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร) ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังให้หมดสิ้นไปโดยเร็วที่สุด โดยให้เร่งตัดวงจรการระบาดของโรคดังกล่าวให้ได้ก่อน รวมทั้งให้เร่งพัฒนา วิจัย และผลิตท่อนพันธ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบต่างให้สัมฤทธิ์ผล และมีปริมาณเพียงพอที่ใช้สนับสนุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้อย่างทั่วถึงโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 2 สัปดาห์